อย่าหลงเชื่อข่าวลืออ่างแตก ปภ.เตรียมพร้อมรับมือ "พายุหลิ่นฟา"
อย่าหลงเชื่อข่าวลืออ่างแตก ปภ.เตรียมพร้อมรับมือ "พายุหลิ่นฟา"
น้ำล้นฝายขนาดใหญ่ป่าอ้อ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนตาจู เร่งระบายน้ำออกจากอ่าง ส่งผลกระทบน้ำเพิ่มสูงขึ้น ติดป้ายเตือนประชาชนอย่าหลงข่าวลืออ่างแตก ปภ.เตรียมพร้อมรับมือ หลินฟา
วันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ ฝายน้ำล้นห้วยป่าอ้อ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดวัดปริมาณน้ำตามธรรมชาติของ ในเขตพื้นที่บ้านโนนสูง ตำบลโนนสูง ลงมาจากบ้านกะเบา บ้านด่าน บ้านนา อำเภอขุนหาญ จากเดิมที่เคยเป็นเขื่อนดิน และแตก จนส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา ตลอดหลายอำเภอที่อยู่ด้านล่างของจังหวัดศรีสะเกษ ก่อนที่จะสร้างเป็นเขื่อนปูน แบบฝายน้ำล้น ณ วันนี้ปริมาณน้ำได้เริ่มไหลแรง ล้นสันฝาย ไหลลงมาท่วมไร่นา บ้านเรือนที่อยู่อาศัยในขอบลำห้วย ตามทางน้ำธรรมชาติ ประกอบกับเขื่อนตาจู ได้เริ่มปล่อยน้ำออกมาจากตัวอ่าง และล้นสปริงเวย์ เพราะปริมาณน้ำไหลสูงขึ้น หวั่นว่าอ่างจะรับน้ำไม่ไหว แต่ชลประทานศรีสะเกษ ก็มั่นใจจึงได้ติดป้ายประกาศแจ้งเตือนประชาชน ว่า อ่างเก็บน้ำ สันเขื่อน ขอบอ่าง ยังแข็งแรงทนต่อปริมาณน้ำได้เป็นปกติ วอนอย่าหลงเชื่อข่าวลือเขื่อน อ่างจะแตกแต่อย่างใด ขณะเดียวกันทางป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้เรียกประชุมด่วน เตรียมรับมือมวลน้ำที่จะเกิดจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง จากการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา กับ พายุลูกใหม่ หลินฟา และอีก 2 ลูกที่กำลังไล่ตามหลังมา
นายศุภชัย ไชยสุวรรณ อาสาป้องกันบรรเทาสาธารณภัย อำเภอขุนหาญ ที่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในแถบชายแดน ฝั่งอำเภอขุนหาญ พบว่า ปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะบนเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย - กัมพูชา มีปริมาณที่มาก ฝนตกต่อเนื่องมาตลอดในระยะ 4 – 5 วันนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลงลงมาสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนตาจู ห้วยป่าอ้อ ห้วยจันทร์ ประกอบกับอ่างเก็บน้ำทุกแห่งตอนนี้ได้เริ่มระบายน้ำออกจากอ่างในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพราะหวั่นอ่างจะรับน้ำไม่ไหว ขณะนี้น้ำได้ไหลเข้าท่วมไร่นามีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น และท่วมบ้านเรือนของราษฎรที่ปลูกไว้ตามไร่นาสวนตามแนวขอบลำห้วย ซึ่งสายน้ำที่ไหลลงสู่ด้านล่างจากอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ ก็จะไหลไปตามลำห้วยสำราญ ไหลผ่านอำเภอภูสิงห์, ขุขันธ์, ไพรบึง, ปรางกู่, วังหิน, ห้วยทับทัน และไหลเข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ ในที่สุด และหากมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็อาจจะมีมวลน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และไหลท่วมหนักได้เช่นกัน ซึ่งตนก็จะได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำจากเทือกเขาพนมดงรัก และเขื่อน อ่างเก็บน้ำแถบชายแดนรายงานปกครองอำเภอขุนหาญ และ ปภ.จังหวัด ในทุก ๆ วันต่อไป
ภาพ/ข่าว นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ / ศรีสะเกษ