สุดแปลก ประเพณีข้าวหลามสามัคคี ทำข้าวหลามห้าพันกระบอก แจกผู้ร่วมบุญกฐิน
ชาวบ้านโป่งนกเป้า อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันเผาข้าวหลาม จำนวน 5,000 กระบอก เพื่อแจกให้ผู้มาร่วมงานบุญกฐิน ของทางวัด เป็นปีที่ 5 จนกลายเป็นงานประเพณีท้องถิ่น "เผาข้าวหลามสามัคคี"
วันที่ 11 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเขาโป่งนกเป้า หมู่ที่ 10 บ้านโป่งนกเป้า ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ได้จัดให้มีงานบุญทอดกฐินสามัคคี เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างศาลาการเปรียญ (ศาลาปฏิบัติธรรม) ให้กับทางวัดเขาโป่งนกเป้า ขึ้น โดยภายในงานได้จัดให้มีขบวนแห่กฐินสามัคคี จากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ ฟ้อนรำมาอย่างสวยงาม ในขณะที่ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านโป่งนกเป้า และ หมู่ 3 บ้านดงเข็ม ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี
แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ชาวบ้านก็มากันเยอะ ต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดเตรียมและเผาข้าวหลาม จำนวน 5,000 กระบอก โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น การตัดกระบอกข้าวหลาม การขูดมะพร้าว การคั้นกะทิ การกรอกข้าวเหนียวใส่กระบอก แล้วทยอยนำไปเรียงเป็นแถวเผาข้าวหลามที่บริเวณลานวัด เพื่อไว้แจกจ่ายให้กับพุทธศาสนิกชน ญาติโยม และประชาชนที่มาร่วมในงานบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดเขาโป่งนกเป้า ซึ่งชาวบ้านร่วมกับทางวัดจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยวัตถุดิบต่างๆที่เป็นส่วนประกอบใช้ในการทำข้าวหลาม ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าว ได้รับบริจาคจากญาติโยม สาธุชน ได้ร่วมใจน้อมนำมาถวายไว้ที่วัดทั้งสิ้น
นายเจน สงขำ อายุ 68 ปี ประธานคณะกรรมการวัด กล่าวว่า สาเหตุที่ทางวัดทำข้าวหลามแจกในงานกฐินก็เพราะว่า พื้นที่ของวัดอยู่ติดภูเขา ซึ่งมีต้นไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชน และทางวัดมีแนวคิดว่าเป็นการได้เข้าไปตัดแต่งต้นไผ่ในป่าให้แตกหน่อใหม่ เพื่อความเจริญงอกงามของต้นไผ่ ปีละ 1 ครั้ง และที่สำคัญยังสามารถทำเป็นแนวกันไฟป่าในหน้าแล้ง ที่อาจจะลุกลามเข้ามาสร้างความเสียหายกับทางวัด และหมู่บ้านได้อีกด้วย
สำหรับการเผาข้าวหลาม จำนวน 5,000 กระบอก ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องปกติ เพราะนอกจากจะต้องใช้คนจำนวนมากมาแบ่งหน้าที่กันทำแล้ว วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำข้าวหลามยังมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าชาวบ้านไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือจริงๆ ก็ไม่น่าจะได้เห็นภาพชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 200 คน พร้อมใจกันมาร่วมแรงร่วมใจกันมากขนาดนี้
ที่สำคัญ กิจกรรมดังกล่าว นับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้ ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมหรือมีส่วนร่วม เกิดความรัก ความสามัคคี ความสนิทสนมกลมเกลียวกันขึ้นในสังคม ในชุมชน และหมู่คณะ รวมทั้งยังเป็นการหลอมรวมชาวบ้านให้มีความรักความผูกพันกัน สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ จนทำให้สังคมมีความเข้มแข็ง รู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ โดยชาวบ้านจะร่วมกันขึ้นไปบนเขาโป่งนกเป้า เพื่อทำแนวกันไฟ และปลูกต้นไผ่เพื่อ เตรียมไม้ไผ่มาทำข้าวหลามในปีถัดไป
นิติพงษ์ ศรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดเพชรบูรณ์