1,118 อาจารย์ จี้ "นายกฯ" ลาออกใน 7 วัน ขู่นัดหยุดสอนทั่วประเทศ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาศตร์ ท่าพระจันทร์ นำรายชื่อ 1,118 นักวิชาการ ยื่นหนังสือ "นายกฯ" จี้ ลาออกใน 7 วัน ยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ ชี้หากยังดื้อ เตรียมขอความร่วมมือกลุ่มนักวิชาการนัดหยุดสอนทั่วประเทศ
วันที่ 20 ตุลาคม 2563เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ คนส. นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณอาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมนักวิชาการส่วนหนึ่ง รวมตัวกันที่ลานปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ เพื่อเตรียมเดินเท้าไปยื่นแถลงการณ์และทำกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยออกเดินเท้าเวลา เวลา 08.16 น.
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีนิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว เรียกร้องกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวทางสันติวิธี ปราศจากอาวุธ แต่ก็มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น และการจับกุมคงขัง ซึ่งพวกเราในฐานะนักวิชาการ ก็เห็นถึงปัญหาและมีความกังวลห่วงใย จึงริเริ่มที่จะทำกิจกรรมนี้ และออกเป็นแถลงการณ์ ซึ่งรวบรวมรายชื่อนักวิชาการจนถึงเช้านี้ได้ 1,118 รายชื่อ แต่พวกเราก็อยากทำสิ่งอื่นมากกว่าการออกแถลงการณ์ จึงออกเดินทางไปอย่างสงบ เพื่อนำแถลงการณ์และทำกิจกรรม ถ้ามีคนมารับเรื่องก็จะยื่นให้ แต่ถ้าไม่มีก็จะฝากไว้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพราะวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี
สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ คือ
1.ขอประนามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล และเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน หรือเกินกว่าเหตุ เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ ไม่มีพฤติการณ์รุนแรง และจำนวนมากเป็นเยาวชน รัฐบาลต้องยุติสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้
2.รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิ์ตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ลงสัตยาบัน ต้องยกเลิก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เอาผิดผู้แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่สมควรแก่เหตุ
3.รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างแท้จริง ต้องการให้นายกฯ ลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิรูปสถาบันให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษา และให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆในภาควิชาการ ประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาการเขียนกติกาสูงสุดปราศจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตั้งแต่ต้น ทำให้แทบไม่มีโอกาสที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตที่ดำเนินมาอย่างยืดยาวนาน
ทั้งนี้ นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนมารับหนังสือและข้อเรียกร้อง โดยนายอนุสรณ์ หวังว่า แถลงการณ์จะไปถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้ที่มีพระอำนาจสูงสุด ที่จะคลี่คลายปัญหา
"เพราะสถานการณ์ขณะนี้มาถึงวิกฤตแล้ว หลังรัฐบาลไม่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น จึงทำให้เกิดการขยายตัวของการคับข้องขุ่นเคืองของกลุ่มเด็กๆ พร้อมกดดันว่า เครือข่ายให้เวลารัฐบาล 1 สัปดาห์ (7วัน) ในการทำตามข้อเรียกร้อง หากไม่สนองตอบจะงดเว้นการเรียนการสอน" นายอนุสรณ์ กล่าว