ข่าว

"จตุพร" ชี้ หากรักสถาบันฯ อย่าสวมเสื้อเหลืองไปเผชิญหน้า หรือทุบตีใคร

"จตุพร" ชี้ หากรักสถาบันฯ อย่าสวมเสื้อเหลืองไปเผชิญหน้า หรือทุบตีใคร

23 ต.ค. 2563

"จตุพร" ชี้ หากรักสถาบันฯจริงอย่าสวมเสื้อเหลืองไปเผชิญหน้า หรือทุบตีใคร เพราะยิ่งจะสร้างความเสียหายให้กับสถาบัน เชื่อหากทำเช่นนั้น จะเป็นการเห็นแก่ตัวหรือพวกพ้อง พร้อมขอให้การประชุมสภาสมัยวิสามัญ เริ่มด้วยเรื่องแก้ รธน.ก่อนเพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง

23 ต.ค.63  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ "peace talk" ในหัวข้อ "บ้านแตก สาแหรกขาด" โดยระบุถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญที่เริ่มต้นด้วยการอภิปรายเพื่อหาทางออกจาก วิกฤต แต่ทันทีที่ นายกรัฐมนตรีอ่านแถลงในที่ประชุมรัฐสภา หลังจากนั้นก็ไม่ใช่การอภิปรายหาทางออก แต่จะเป็นการตอบโต้กันในที่ประชุมสภา และจะกลายเป็นจุดที่สร้างวิกฤตขึ้นมาใหม่
 

นายจตุพร กล่าวว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันนี้แต่ละฝ่ายต้องตั้งหลักคิดกันภายใต้พื้นฐานว่าเราต่างก็เป็นคนไทยมีความรักชาติบ้านเมือง และที่สำคัญที่สุดประเทศไทยยังจะต้องยืนหลักคำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและก็ขีดเส้นใต้กันที่เหลือนั้นเป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งหากอยู่ในสถานการณ์อันนี้ตนเชื่อว่าเราสามารถคลี่คลายสถานการณ์การได้ตามลำดับ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้นั้นพูดง่ายๆว่าจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่หนีเสือปะจระเข้ 

ทั้งนี้ ตนพยายามเรียกร้องถึงการประชุมสภาสมัยวิสามัญ แต่เมื่อเริ่มต้นด้วยการอภิปรายเพื่อหาทางออกจากวิกฤต และตนได้อ่านสิ่งที่นายกรัฐมนตรี เสนอไปยังประธานรัฐสภานั้น แน่นอนที่สุดหลังจากนายกรัฐมนตรี ได้อ่านแถลงในที่ประชุมรัฐสภาหลังจากนั้นจะไม่ใช่การอภิปรายหาทางออก แต่จะเป็นการตอบโต้กันในที่ประชุมสภา แล้วจะกลายเป็นจุดที่สร้างวิกฤตขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่างคนต่างก็ปัญหาว่า การอภิปรายรอบนี้จะสร้างวิกฤตขึ้นมาใหม่ หาดไม่มีการปรับกระบวนท่าและรูปแบบซึ่งตนพยายามเสนอซ้ำๆ หวังว่า จะได้ฟังกันบ้าง

หากวันที่ 26 ตุลาคมนี้ แทนที่จะพูดเรื่องวิกฤตของชาติ  ควรนำปัญหาออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อยที่สุด คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการให้มี ส.ส.ร. ซึ่งแปลว่า หลังจากที่บรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงอย่างชัดเจนสนับสนุนให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ ส.ว.บางคนก็บอกว่าได้รับสัญญาณใหญ่ชนิดมีใครปฏิเสธไม่ได้  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิด ส.ส.ร.นั้นจะผ่านรัฐสภาอย่างแน่นอน ดังนั้นแปลว่า ส.ว.จะได้เกิน 84 เสียงซึ่ง ตนก็พูดมาตั้งแต่ต้นว่า หากผ่านก็ผ่านทั้งหมด ไม่ผ่านก็ผ่านทั้งหมด / 

เมื่อแต่ละฝ่ายต่างได้แสดงสัญญาณออกมาอย่างนี้จะชักช้าทำไม ในทางกลไกในร่างของไอลอว์ หรือร่างของประชาชนซึ่งก็มีตัวอย่างมากในการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเสนอร่างของประชาชนเข้าไปนั้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 – 2550 ไม่เคยสำเร็จแม้แต่เพียงเรื่องเดียวดังนั้นที่บอกว่ามีการให้สิทธิ์ประชาชนในการเสนอกฎหมายนั้นยังคงเป็นวาทกรรมลวงโลก เพราะ ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อเสนอร่างของประชาชนเข้าไปก็ถูกตีตกทุกครั้งและไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นมาครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อขั้นตอนในการตรวจสอบรายชื่อ ผ่านสภาผู้เเทนาาษฎร ส่งไปยังกรมการปกครองตรวจซ้ำซึ่งใช้เวลาเป็นแรมเดือน 
 

ดังนั้นในการอภิปรายลงมติก็จะมี 7 ร่าง ของฝ่ายค้าน 5 รัฐบาล 1 และ ประชาชน 1 ตนเชื่อว่าหากวันที่ 26 ตุลาคมได้สร้างบรรยากาศที่ดี และการอภิปรายให้เริ่มต้นวันที่ 27 ตุลาคมแม้ว่ารัฐบาลจะขอประชุม 2 วัน แต่รัฐบาลเองก็สามารถที่จะขยายเวลาได้ หากวันที่ 27 ตุลาคมนี้อภิปรายยังไม่จบ ก็อภิปรายต่อในวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ โดยมองว่าไม่ควรล็อคไว้ แต่ควรเปิดปลาย เพราะในสมัยประชุมนั้นก็สามารถขยายกันได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หรือแม้แต่กระทั่งว่าจะอภิปรายวันเดียวให้จบมันก็จบ ส่วนประเด็นการต่อสู้ก็ว่ากันไป ซึ่งตนประกาศชัดเจนว่า จุดยืนไม่เคยเปลี่ยน

นายจตุพรกล่าวด้วยว่า ปัญหา ณ ขณะนี้หากแต่ละฝ่ายรู้จักการเสียสละกันบ้าง และอย่าคิดว่าตัวเองแน่ เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครแน่กว่าใครในทางปฏิบัติ เพราะอำนาจไม่ใช่สมบัติติดตัว   มีมาก็มีไป  มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ นี่คือสัจธรรม ทั้งนี้ตนก็ยังประหลาดใจว่า การคิดหาทางออกทางการเมืองนั้น การเปิดสภาวันที่ 26-27 นั้นเพื่อจะพูดเรื่องการหาทางออกวิกฤตของบ้านเมืองเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าที่สุด เพราะจะกลายเป็นการสร้างวิกฤตใหม่โดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม แต่ละฝ่ายต้องคิดในลักษณะที่ว่า การออกมาต่อสู้นั้น หรือการจะมาสำแดงอะไรกัน ต้องดูแรงเหวี่ยงเรื่องผลกระทบ ยิ่งใส่เสื้อเหลืองยิ่งต้องคิดมาก จะไปทุบตีกับใครไม่ได้ เพราะยิ่งจะสร้างความเสียหายให้กับสถาบัน  ดังนั้นต้องอยู่ด้วยความสงบ แสดงความจงรักภักดี แต่ต้องไม่มีลักษณะที่ใส่เสื้อเหลืองเพื่อไปเผชิญหน้า ดังนั้นหากรักสถาบันจริงต้องไม่กระทำในลักษณะเช่นนี้ 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้กระทั่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ ที่ประชุมรัฐสภา หรือจะวงกรรมาธิการก็ตาม การต่อสู้ทางการเมืองนั้นต้องไม่เอาสถาบันเข้ามาเพื่อป้องกันตนและไว้ทำลายบุคคล บางคนชั่วมาตลอดชีวิตเพราะฉะนั้นไปสู่ความดีกับใครก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ยกสถาบันมาบังหน้าพูดง่ายๆว่าเมื่อตัวเองไม่มีความดีเป็นของตังเองก็เอาสถาบันมาบังหน้าตัวเอง แล้วไปทำลาย ปฏิปักษ์ แล้วตัวเองก็กลายเป็นคนดีขึ้นมาฉับพลันทั้งที่ตัวเองก็เป็นคนชั่วมาตลอดชีวิต

ดังนั้นตนก็เคยพูดว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เพื่อป้องกันตนเพื่อประโยชน์แห่งตนและไว้ทำลายบุคคลอื่น เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการทำลายสถาบันเสียเอง

ดังนั้นการทำหน้าที่พสกนิกรนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการแสดงออก แต่หากเพื่อการเผชิญหน้า หรือต้องการที่จะมีเรื่อง ต้องไม่ใส่เสื้อเหลืองออกมา เพราะยิ่งใส่เสื้อเหลืองออกมาแล้วมาก่อเรื่อง ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การเห็นแก่สถาบัน แต่เป็นการเห็นแก่ตัวหรือพวกพ้อง