
เรื่องเล่าจากครูศิลปะ "ทำไมฉีกกระดาษสมุดมาพับรถ?" ก่อนได้คำตอบชวนอึ้ง
เรื่องเล่าจากครูศิลปะ "ทำไมฉีกกระดาษสมุดมาพับรถ?" ก่อนได้คำตอบชวนอึ้ง ไม่ใช่แค่การพับรถกระดาษธรรมดาๆ แล้ว
คุณครูสาวท่านหนึ่ง โรงเรียนวัดพนม อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เล่าเรื่องราวที่มีชาวเน็ตถูกใจและแชร์ต่ออกไปเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เธอหาสมุดเก่าๆ ที่ใช้แล้ว มาแจกให้ทุกคนพับรถกระดาษ ก่อนจะเจอเรื่องที่เธอรู้สึกแปลกใจและไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ถึงความสุขของเด็กๆ นักเรียนในชั้นเรียน
ทั้งๆ ที่เธอเคยสงสัยมาตลอด และเคยถามเด็กๆ ด้วยความโมโหก่อนหน้านี้ว่า ทำไมฉีกกระดาษสมุดมาพับรถ? และได้รับคำตอบที่ชวนอึ้ง เพราะมันไม่ใช่แค่การพับรถกระดาษธรรมดาๆ แล้ว
" รถกระดาษเจ้าปัญหา เคยถามเด็กๆด้วยความโมโห...ว่า "ทำไมฉีกกระดาษสมุดมาพับรถ?" สมุดเอามาเรียนก็ฉีกหมด บลาๆๆๆๆ กระดาษใช้แล้วก็มีทำไมไม่ใช้
ตอนนั้นมีเด็กคนนึงตอบอย่างไวว่า.. ถ้าใช้กระดาษA4พับ รถมันหนัก เป่าไปไม่ไกลนะครู..
...คำตอบแบบ เห้ย!... มันไม่ใช่แค่พับรถเฉยๆ แล้ว เด็กเกิดการเรียนรู้..ว่าควรใช้กระดาษอะไรพับ
พอลองคุยต่อ ไหนจะวิธีการพับ ไหนจะวิธีการเป่า มีลงแป้ง ไม่มีแป้งก็ผงชอล์ก รถก็ต้องบางและเรียบที่สุด ทริค (Trick) เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้รถแรงอีก ขนาดและรูปแบบของรถอีก เด็กดูมีความรู้ขึ้นมาทันที
วันนี้เลยหาสมุดเก่าใช้แล้วมาแจกให้ทุกคนพับรถ ..เด็กๆ สอนพับรถให้กันและกัน น่าแปลกที่วันนี้ เด็กน้อยคนที่เรียนค่อนข้างอ่อนต้องมาสอนพับรถให้เด็กที่เรียนเก่งท็อปห้อง
รู้สึกดีแปลกๆ เหมือนวันนี้เขาได้มีตัวตนมากที่สุดในสายตาเพื่อนๆ เด็กๆช่วยกันตกแต่งรถ ช่วยแนะนำวิธีการเป่า ช่วยกันทำสนามแข่ง แบ่งทีม แข่งกันเป่ารถ ปรึกษากัน ลุ้นกัน วันนี้เลยทำให้เห็นว่า
- บางคนเรียนไม่เก่ง...แต่พับรถได้เร็วและหลากหลายแบบ
- บางคนพูดน้อย..แต่เป่ารถได้ไกลที่สุดในห้องและเป็นที่ปรึกษาที่ดีเรื่องการเป่ารถให้เพื่อนๆ
- บางคนเรียนช้า..แต่เขาถนัดเรื่องการพับรถได้สวยงามกว่าใคร
เด็ก ช/ญ ไม่ค่อยจะเล่นด้วย วันนี้ก็มาช่วยกันพับและตกแต่งรถ หรือบางครั้งเด็กไม่ได้ต้องการให้เราถามเขาตลอด..ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ เขาก็แค่อยากทำ และหากเราเข้าใจ มันไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลย
วันนี้เด็กๆ มีกระดาษสมุดเล่มเก่าของครูให้ฉีกมาพับรถ ไม่ต้องแอบฉีกสมุดของตัวเองแล้ว เราแค่คุยสร้างความเข้าใจกัน กระดาษควรทิ้งที่ไหน ควรเล่นที่ไหน เล่นแล้วต้องเก็บ โลกของเด็กๆ จะได้ดำเนินต่อไปโดยมีครูยืนดูอยู่ห่างๆ
อย่าลืมว่าเราเองก็โตมาพร้อมกับรถเหล่านี้เหมือนกัน"
CR เฟซบุ๊ก : Prapavadee Samarn