ปอท.เตือนสติชาวโซเชียลฯ เล่นอย่างสันติวิธี ไม่หลงตกเป็นเหยื่อความขัดแย้ง (มีคลิป)
ปอท.เตือนสติชาวโซเชียลฯ เล่นอย่างสันติวิธี ไม่หลงตกเป็นเหยื่อความขัดแย้ง
27 ต.ค.63 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. โฆษก บก.ปอท. คณะทำงาน สื่อ-สร้าง-สาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในโลกโซเชียลมีเดียปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยความร้อนแรงโดยเฉพาะความคิดเห็นทางด้านการเมืองที่มีความเห็นต่างและอาจจะมีการใช้อารมณ์ในโพสต์ตลอดจนคอมเม้นต์ต่างๆ บางทีเกิดความขัดแย้งกันในหลายๆ รูปแบบ
ที่ผ่านมามีการกระทำผิดหลายรูปแบบ เช่น การสร้างข่าวปลอมมีการบิดเบือนนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในหลายๆ คอนเท้นต์ สร้างความสับสน ตื่นตระหนกในสังคม โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์
เฟคนิวส์ หรือข่าวปลอมนั้นเป็นแบบหนึ่ง แต่ในตอนนี้จะมีปรากฎการณ์อีกรูปแบบหนึ่งคือการนำบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลสาธารณะที่สังคมรู้จัก ทั้งนักแสดง นักร้อง ถูกนำมาเป็นตัวสร้างความขัดแย้งโดยการนำคอนเท้นต์หรือคำพูดบางประโยคมาขยายผลสร้างความขัดแย้งในลักษณะที่ทำให้ผู้เห็นต่างเข้ามารุมแสดงความเห็นในทางลบหรือด่าหรือเรียกตามศัพท์นิยมว่า”ทัวร์ลง” อาจจะมีการหลอกล่อให้บุคคลสาธารณะมีชื่อเสียงเหล่านี้ตอบถำถามหรือพูดอะไรออกมาจากนั้นก็นำไปก่อให้เกิดกระแส การทำลักษณะแบบนี้เป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่มเข้าไปอีก
ทาง บก.ปอท. ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยากจะฝากแนะนำพี่น้องประชาชนชาวโซเชี่ยลฯ ทั้งหลายว่าถ้าเจอโพสต์ คลิป ข้อความ ความเห็น ต่างๆ ที่สร้างความขัดแย้งเหล่านี้อย่าไปส่งต่อ อย่าไปคอมเม้นต์เพิ่มเติมซึ่งจะเท่ากับเป็นการไปเพิ่มความขัดแย้งให้กับสังคม
ในส่วนของข่าวปลอมมีการสร้างขัอมูลเท็จหรือบิดเบือนขึ้นแล้วส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์หรือเป้าหมายให้ประชาชนที่เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เกิดความสับสน และหลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าวและมีการแชร์ต่อในโลกออนไลน์ อันเป็นการแพร่กระจายข่าวปลอมในวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นประชาชนต้องใช้วิจารณญาณให้ดีในการรับทราบข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะเชื่อและส่งต่อข้อมูล
อีกเรื่องคือการสร้างแฮชแท็กโดยใช้คำพูดบางประโยคหรือการกระทำบางอย่างมาสร้างแฮชแท็กเพื่อดึงความสนใจสำหรับคนที่เล่นโซเชียลมีเดีย พอสร้างแฮชแท็กที่อ่านแล้วได้อารมณ์เกิดความรู้สึกร่วม ก็มีการส่งต่อมีการแสดงความคิดเห็นแล้วติดแฮชแท็ก อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการหนึ่งในการสร้างความเกลียดชังในสังคม อันนี้ก็ไม่ควรตกเข้าไปอยู่ในกระแส หรือตกเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการได้ ระยะหลังๆ มานี้จะมีการนำคำพูด วาทะกรรมต่างๆ ที่สร้างความรุนแรงเห็นต่างรู้สึกเกลียดชังกัน ที่เรียกว่า hate speech ทำให้คำเหล่านี้แพร่กระจายอยู่ในสังคมออนไลน์ ส่วนจะผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้นต้องพิจารณาคำพูด/คอมเม้นต์นหรือสิ่งที่แชร์ เป็นความเท็จ สร้างความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือส่งผลต่อความมั่นคงหรือสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป