อัยการยื่นฟ้องศาล "ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ -พิธา" กับพวก คดีแฟลชม็อบ
อัยการยื่นฟ้องศาล "ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ -พิธา" กับพวก คดีแฟลชม็อบ ล่าสุด ศาลปล่อยตัวชั่วคราว แล้ว
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง6 (ปทุมวัน) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 จ.นครปฐม เดินทางมารับฟังคำสั่งตามที่อัยการนัดหมาย กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากเหตุการณ์ชุมนุมแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องและนำตัวนายธนาธรกับพวกยื่นฟ้องต่อศาลเป็นจำเลยต่อมาศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่ไม่ต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีนัดคดีต่อไปในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้ารับฟังคำสั่งของศาล ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ โดย ธนาธร ในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีข้อสังเกตถึงมาตรฐานที่ต่างกันในกรณีคำตัดสินของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝั่งของตนเอง รวมถึงทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับ ธัญญ์วาริน และคดีความต่างๆต่อ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในการต่อสู้กับความอยุติธรรม
“สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด จึงนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องของผู้มีอำนาจ ที่คิดว่าต้องเอาคนที่อยู่เบื้องหน้า เอาแกนนำจับเข้าคุกให้หมด เป็นการตั้งโจทย์และมีวิธีการที่ผิด ถึงไม่มีธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ พวกเขานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนก็จะยังต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขา เพื่อประชาธิปไตย การยิ่งจับกุมผู้คนเข้าคุกมีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น” ธนาธร กล่าว
ด้าน ปิยบุตร กล่าวว่า กรณีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อมวลชนของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นว่าเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น และทำไปทำมาแล้วกลายเป็นผู้ที่ถูกผลกระทบคืออดีตผู้สมัครและคนที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่กรณีของ ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนครที่ถูกตัดสิทธิก่อนเลือกตั้ง และต่อมาก็เป็น ธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และก็มาเป็นกรณีของธัญญ์วาริน ทั้งหมดจำนวน 3 คน
“มีประเด็นว่ามาตรฐานการตัดสินของสองศาลไม่เหมือนกัน ศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งกรณีของคุณภูเบศวร์ ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่าดูที่หนังสือบริคณห์สนธิ ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งในบริษัททำสื่อ ก็ถือว่าโดนทั้งหมดโดยไม่ดูว่าประกอบกิจการสื่อหรือไม่ แต่แนวทางคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ มีแนวทางว่าต้องประกอบกิจการจริงๆด้วย แม้ว่าในหนังสือบริคณห์สนธิจะมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนก็ตามที ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จะคืนสิทธิคุณภูเบศวร์ที่ได้ไปตัดสิทธิไว้ตอนนั้นอย่างไร รวมทั้งมีปัญหาในประเด็นที่ว่า การที่ ส.ส.โดนพิจารณาตัดสินคดีนั้น เรื่องทั้งหมดไม่ควรต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก เพราะว่าทุกคนเป็น ส.ส.ไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร มีช่วงเวลาอยู่แล้วที่ทำโดยศาลฎีกา หลังจากนั้นเมื่อเป็น ส.ส.แล้ว จะตรวจว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามต้องตรวจในสถานะ ณ เวลาตอนที่เขาเป็น ส.ส.ไปแล้วว่ามีหุ้นหรือไม่ แต่นี่กลับย้อนไปตรวจตั้งแต่วันที่สมัคร จึงนำไปสู่ความสับสนอลม่าน และหากจะทำความเข้าใจเหตุผลที่ริเริ่มกันแบบนี้อย่างตรงไปตรงมาก็คือ มีนักร้องที่ต้องการเล่นงานคุณธนาธร จึงกลายเป็นปัญหากระบวนการที่ลักลั่นกัน”
ปิยบุตร ยังได้ยกอีกกรณีที่ชวนกังขาคือ การตัดสินคดีหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ที่นำไปสู้การตัดสิทธิการเป็น ส.ส. ของ ธนาธร โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่จดทะเบียนเลิกบริษัทนั้นอาจจะนำมาเปิดกิจการเมื่อใดก็ได้ แต่เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.63) การตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูณต่อกรณีของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นการปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่จดทะเบียนเลิกเหมือนกัน แต่ศาลไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ สุดท้ายแล้วแนวทางคำวินิจฉัยของศาลควรจะเป็นอย่างไรกันแน่ ในส่วนของประเด็นเรื่องการดำเนินคดีทางอาญานั้น เวลาที่พูดถึงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร หมายถึงเป็นการผูกพันเฉพาะผลของคำวินิจฉัย คือ ธัญญ์วาริน และ ธนาธร ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว แต่ไม่ได้ผูกพันเรื่องข้อเท็จจริง ความเห็น หรือเหตุผลประกอบที่ศาลรัฐธรรมนูญนำไปใช้ในคดี ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นคือ กรณีตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ที่อ้างว่ามีการจ้างวานพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง ในตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค แต่พอมาดำเนินคดีอาญากับพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่กล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวาน สุดท้ายศาลยกฟ้องเนื่องด้วยหลักฐานไม่เพียงพอ
ด้าน พิธา กล่าวว่า กรณีที่ ธัญญ์วาริน ถูกวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ทำให้พรรคสูญเสีย ส.ส.น้ำดีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศและวัฒนธรรม ผ่านการทำหนังละคร รวมไปถึงการเป็นผู้แทนราษฎร
“พวกเราตั้งใจทำพรรคการเมืองที่ดีที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในระบบ ต่อกรณีความท้าทายและประเด็นต่างๆ ของสังคมไทย พวกเราไม่ได้หวาดหวั่น เมื่อวานนี้คุณธัญญ์วารินหรือพี่กอล์ฟ ได้ฝากเพื่อน ส.ส.ให้ช่วยกันผลักดันในประเด็นต่างๆ ที่เคยริเริ่มเอาไว้ พรรคก้าวไกลถึงแม้จะสูญเสียในเชิงตัวเลข แต่ในเชิงคุณภาพไม่ได้ลดลง พวกเราพร้อมจะช่วยกันเติมเต็มและสานเจตนารมณ์ที่คุณธัญญ์วารินได้ริเริ่มไว้ทั้งการผลักดัน การอภิปรายต่างๆ” พิธา กล่าวทิ้งท้าย