สั้นๆเข้าใจง่าย "จำนอง-จำนำ-ขายฝาก" ต่างกันอย่างไร
การกู้ยืมเงินโดยใช้โฉนดที่ดินค้ำประกันเป็นที่นิยมกันมาก แต่รูปแบบของการค้ำประกันจะมีผลต่างกัน ลองมาดูว่า จำนอง-จำนำ-ขายฝากโฉนดที่ดิน นั้นต่างกันอย่างไร
วันนี้ 4 พ.ย. 2563 ทนายรัชพล ศิริสาคร ประธานชมรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เจ้าของเพจ สายตรงกฎหมาย ยึดมั่นความยุติธรรม โพสต์ข้อความระบุ การกู้ยืมเงินโดยใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน เป็นที่นิยมกันมาก แต่ว่า รูปแบบของการค้ำประกันจะมีผลต่างกัน ลองมาดูว่า จำนอง จำนำ ขายฝาก โฉนดที่ดิน ต่างกันยังไง
การจำนำโฉนดที่ดิน เป็นภาษาชาวบ้าน ก็คือการเอาโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้เก็บไว้เพื่อประกันการชำระหนี้ หากลูกหนี้ไม่ชดใช้เงิน เจ้าหนี้ก็ถือโฉนดไว้ แต่เจ้าหนี้คงเอาไปขายไม่ได้หรอก เพราะโฉนดเป็นชื่อลูกหนี้ ก็คงทำได้เพียงยึดถือไว้จนกว่าลูกหนี้จะมาชำระหนี้ นอกจากจะไปฟ้องแล้วบังคับยึดที่ดิน
การขายฝากที่ดิน อันนี้น่ากลัวมาก เพราะหากลูกหนี้ผิดนัดแค่วันเดียว สิทธิในการไถ่ที่ดินคืนจะสิ้นสุดทันที ลูกหนี้จะไม่มีวันได้ที่ดินคืนเลย นอกจากจะซื้อคืน ซึ่งเจ้าหนี้มักจะขายในราคาแพงๆ ในทางปฏิบัติ วันชำระเงินเจ้าหนี้มักจะหลบหน้าเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ซึ่งลูกหนี้สามารถเอาเงินไปใช้หนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ที่ดินจะได้ไม่หลุด
การจำนองที่ดิน จะต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดิน หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถนำที่ดินไปประมูลแล้วเอาเงินมาชำระหนี้ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเอาที่ดินไปประกันการกู้ยืมเงิน ส่วนจะใช้วิธีไหนก็เลือกกันตามสะดวกแล้วกันครับ
Cr. สายตรงกฎหมาย