WHO เชิญไทย 1 ใน 4 ประเทศ แชร์ประสบการณ์ต้านโควิด
"อนุทิน" เผยองค์การอนามัยโลก ยกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่มีประสบการณ์ในการทบทวนระหว่างปฏิบัติงานด้านโรคโควิด-19 และร่วมแถลงข่าวนำเสนอเป็นตัวอย่างผ่านระบบประชุมทางไกล
วานนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) ที่ห้องประชุมองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย , นายแพทย์ริชาร์ด บราวน์ ผู้จัดการโครงการด้านภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินและการดื้อยาต้านจุลชีพ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย , นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี
กรมควบคุมโรค และนายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข แถลงข่าวผ่านระบบประชุมทางไกล ว่าด้วยการทบทวนระหว่างการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคในสถานการณ์โควิด-19 และองค์การอนามัยโลกได้คัดเลือกให้นำประสบการณ์มาแถลงข่าว ร่วมกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และอุซเบกิสถาน เนื่องจากประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่า สามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากการนำกลยุทธ์ต่างๆมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ
การค้นหาผู้ป่วยอย่าง ครอบคลุม การติดตามผู้สัมผัสและกักกันโรคอย่างเข้มข้น ที่สำคัญคือได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคประชาสังคม ในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบผู้ติดเชื้อในประเทศน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้าอยู่ในสถานที่กักกันและเข้าสู่ระบบการรักษา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการทบทวนระหว่างปฏิบัติงาน (IAR) เพื่อถอดบทเรียนจากการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา และนักวิชาการ เป็นผู้ประเมินตามเครื่องมือที่องค์การอนามัยโลกออกแบบ ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม พ.ศ.2563
โดยรวบรวมข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งผู้ที่อยู่หน้างานและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆพบว่า ปัจจัยที่เอื้อให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือการตัดสินใจเด็ดขาดของผู้นำบนพื้นฐานทางวิชาการ การมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการยับยั้งวงจรของการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความท้าทายในการพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้มีความทันสมัย
ใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ รวมถึงขยายระบบการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยของ
ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินอีกด้วย