ข่าว

"ส.ว.-ส.ส. พปชร."เข้าชื่อยื่น"ชวน"ส่งศาลรธน.ชี้ 3 ร่างแก้ไข รธน. ชอบ-ไม่ชอบ 

"ส.ว.-ส.ส. พปชร."เข้าชื่อยื่น"ชวน"ส่งศาลรธน.ชี้ 3 ร่างแก้ไข รธน. ชอบ-ไม่ชอบ 

09 พ.ย. 2563

"ส.ว.-ส.ส. พปชร."เข้าชื่อยื่น"ชวน" ส่งศาลรธน.วินิจฉัย 3 ร่างแก้ไข รธน.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตั้งข้อสังเกตกลุ่มไอลอว์มีทุนต่างประเทศ -พรรคการเมือง หนุนหลัง ยืนยันไม่ได้ประวิงเวลา แต่ไม่อยากทำผิด รธน. ขอผู้ชุมนุมอย่าเลยเถิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส.ว. นำโดยนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม รวบรวมรายชื่อ ส.ว. 40 กว่าคน เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ใน 7 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากลงมติรับหลักการทั้งที่ญัตติขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อความรอบคอบจึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 
 นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร คงจะหารือกับสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมองว่าหากมีการลงมติรับหลักการไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งกรณีปัญหาร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ ส.ว. มีสิทธิ์อยู่แล้ว 

สำหรับ 3 ญัตติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประกอบด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ แม้จะมีผู้เข้าชื่อเกือบแสนคน แต่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มไอลอว์มีหน้าที่ดำเนินการหรือไม่ และเป็นองค์กรที่มาจากต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมีการสารภาพแล้วว่ารับเงินมาจากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่องค์กรซึ่งรับเงินมาจากต่างประเทศ มาสร้างความวุ่นวายในประเทศไทย และตั้งข้อสังเกตว่ามีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มไอลอว์ จึงอยากให้เปิดหน้า จะได้มาคุยกันว่าทำถูกต้องหรือไม่ ส่วนอีก 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือร่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และควรทำประชามติก่อนหรือไม่ 

ส่วนจะทำให้ถูกมองว่า ส.ว.มีเจตนาประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับว่าถูกมองอยู่แล้ว ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็สอดคล้องกับ ส.ว. เพียงแต่ ส.ว. มีหน้าที่ดูแลให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ อาจจะช้าจะเร็วไปบ้าง แต่ก็เพื่อไม่ให้ ส.ว.ถูกชี้ความผิดทีหลัง ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนายื้อหรือประวิงเวลา แต่เป็นไปเพื่อความรอบคอบ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 

ส่วนจะส่งผลถึงสถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราต่างก็เป็นคนไทย การชุมนุมไม่ผิด แต่อย่าเลยเถิด ประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เพราะยังมีประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งจำนวนมหาศาลที่ทนไม่ได้เหมือนกัน อย่าเลยเถิดไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่อยากเห็นคนไทยฆ่ากัน อะไรที่ถอยได้ยอมได้ แต่ถ้าหากการชุมนุมมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีคำสั่งจากนอกประเทศไม่ใช่ในประเทศไทย อันนั้นก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ส่วน ส.ว. มีหน้าที่ดูแลกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับญัตติเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ผู้เสนอญัตติคือนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ  สมาชิกวุฒิสภา พร้อมแนบรายชื่อผู้รับรองญัตติประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 48 คนอาทิ นายนายกิตติ วะสีนนท์ ,พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, นายสังสิต พิริยะรังสรรค์, นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และ ส.ส.อีก 25 คน อาทิ นายอรรถกร  ศิริลัทธยากร , นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ , นายสายัณห์ ยุติธรรม , นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ   ซึ่งทั้งสี่คนเป็น ส.ส.พลังประชารัฐ

โปรลาซาด้า

\"ส.ว.-ส.ส. พปชร.\"เข้าชื่อยื่น\"ชวน\"ส่งศาลรธน.ชี้ 3 ร่างแก้ไข รธน. ชอบ-ไม่ชอบ