สภาฯรับร่างแก้ไข รธน.' รบ.-ฝ่ายค้าน' - ตีตก'ร่างไอลอว์'
ที่ประชุมรัฐสภาฯมีมติรับร่างแก้ไข รธน.'รบ.-ฝ่ายค้าน'วาระ1 - ตีตกร่างฉบับที่ 3-6 คือของนายสมพงษ์กับ และร่างฉบับที่ 7 ซึ่งเป็น'ร่างไอลอว์' จากนั้นที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาวาระ 2 แปรญัตติ 15 วันโดยนำเอาร่าง รธน.ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเป็นร่างหลักพิจารณา
วันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลา 19.10 น. ผลการลงมติที่ประชุมรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 7 ฉบับด้วยการออกเสียงแบบขานชื่อแต่ละคน ปรากฏว่า
ที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นร่างที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ มีสาระสำคัญคือ ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)
และลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งนายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญคือ ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญ (ม.256) ส.ส.ร. 200 คน มาจากเลือกตั้ง 150 คน เลือกจากกลุ่มต่างๆ 50 คน ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน
ส่วนร่างฉบับที่ 3-ฉบับที่ 6 ซึ่งเสนอโดยนายสมพงษ์กับคณะ ถูกตีตกไม่ผ่านความเห็นชอบ
และร่างฉบับที่ 7 ร่างฉบับไอลอว์ ซึ่งเสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับคณะ ไม่ผ่านความเห็นชอบ ถูกตีตก
ทั้งนี้ร่างที่จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 366 เสียง และต้องได้เสียง ส.ว.เกิน 1 ใน 3 คือ 82 เสียง
โดยมีรายละเอียดผลการลงคะแนนดังนี้
ร่างฉบับที่ 1(ฝ่ายค้าน)เสนอ รับหลักการ 576 เสียง ( เป็นเสียง ส.ส. เห็นชอบ 449 เสียง, เสียง ส.ว. เห็นชอบ 127 เสียง ) ไม่เห็นชอบ 21 เสียง งดออกเสียง 123 เสียง
ดังนั้น ร่างฉบับที่ 1 ผ่านขั้นรับหลักการวาระ 1
ร่างฉบับที่ 2 (รัฐบาล)เสนอ รับหลักการ 647 เสียง ( เป็นเสียง ส.ส. เห็นชอบ 471 เสียง , ส.ว. เห็นชอบ 176 เสียง ) ไม่เห็นชอบ 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง
ดังนั้น ร่างฉบับที่ 2 ผ่านขั้นรับหลักการวาระ 1
ส่วนร่างฉบับที่ 3- ฉบับที่ 7 ได้คะแนนเสียงจากการลงมติไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ทำให้ตกไป
(สำหรับร่างไอลอว์ ซึ่งเป็นร่างฉบับที่ 7 นั้น มีเสียงเห็นชอบ 212 เสียง ประกอบด้วย ส.ส. 209 เสียง ส.ว. 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง ประกอบด้วย ส.ส. 61 เสียง ส.ว. 78 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง ประกอบด้วย ส.ส. 213 เสียง ส.ว. 156 เสียง )
จากนั้นที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 45 คน แปรญัตติภายใน 15 วันโดยนำเอาร่าง รธน.ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเป็นร่างหลักพิจารณา เมื่อเสร็จในชั้นกรรมาธิการฯ ก็จะนำร่างเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2-3 ต่อไป