อีกหนึ่งอาชีพน่าสนใจ เลี้ยงปูนาขายรายได้ดี เผย 2 ปีปลดหนี้มีกำไร เตรียมแปรรูปส่งออกนอก
ชาวสวนผักหันมาเพาะพันธุ์ปูนาขายสร้างรายได้ เผยเลี้ยง 2 ปีปลดหนี้ได้หมด แถมมีกำไรอีก เตรียมแปรรูปส่งออกไปขายต่างประเทศ
วันที่ 20 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ บ้านปูนาอุดรธานี เลขที่ 283 ม.7 บ.ดงมะกรูด ต.หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อไปพบกับนางพรเพ็ญ บุตตาธรรม หรือ แม่พร อายุ 45 ปี เป็นเจ้าของบ้านปูนาอุดรธานี ซึ่งก่อนหน้าเคยยึดอาชีพปลูกกุหลาบป่าร้อยมาลัย , หอมแบ่ง (ต้นหอม) และผักต่างๆต่อเนื่องมารวม 27 ปี แต่ก็ยังเป็นหนี้เรื่อยมา ก่อนหันมาทำบ้านพักริมถนนเข้าหมู่บ้านเป็น "ฟาร์มปูนาน้ำใส" (บ่อปูนซีเมนต์) สำหรับผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาขาย ตามคำแนะนำของลูกชายที่ไม่อยากให้พ่อกับแม่เลิกปลูกผัก และจะได้ห่างไกลจากสารเคมี
ที่บริเวณหน้าบ้านกำลังสร้างโรงแปรรูปปูนา อาทิ ปูดอง , ดองปูสมุนไพร , น้ำพริกนรกปูนา , ปูนาไข่เค็ม , อ่องมันปูนา , น้ำยาขนมจีนปูนาแห้ง และอื่นๆอีกมากมาย ขยายการเพาะเลี้ยงโดยการนำแปลงนาข้าว 1 ไร่เศษ มาทำเป็นฟาร์มปูนาธรรมชาติ (บ่อดิน) ปรับแต่งล้อมด้วยกระเบื้องหลังคาเก่าเป็นระบบปิด ระบบน้ำก็ใช้จากงานปลูกผักเดิม แถมให้ข้อมูลแบบไม่มีกั๊ก ทั้งนี้นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม ยังได้เชิญชวนเกษตรกรให้หันมาทดลองเลี้ยงปูนา เพราะใช้เงินลงทุนต่ำ แต่สร้างรายได้ดี
โดยนางพรเพ็ญ เผยว่า สามีทำงานที่ อบต.หนองไฮ นอกเวลางานก็มาทำเกษตร มีลูกชาย 2 คน ได้ทุนเรียนพาณิชย์นาวี มีงานทำอยู่ในทะเลไทยแล้ว ครอบครัวเราทำการเกษตรมาตลอด 27 ปี ปลูกต้นหอม 50 ไร่ ปลูกอ้อย 30 ไร่ ทำนา 30 ไร่ จากที่ดินเช่าและของเราเองบ้าง แต่ก็ยังมีหนี้กับ ธ.ก.ส.หลายแสนบาท แต่เมื่อหันมาเลี้ยงปูนาเพียง 2 ปี 1 เดือน ก็สามารถปลดหนี้ ธ.ก.ส. และหนี้อื่นๆรวมเกือบ 1 ล้านบาท ได้จนหมดแล้ว
"ลูกชายอยากให้เลิกปลูกผักเพราะใช้สารเคมีมานานแล้ว ลูกคนโตสั่งซื้อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากบ้านแพร้วมาให้ 600 ต้น ส่วนลูกชายคนเล็กสั่งซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนามาให้ทดลองเลี้ยง 100 คู่ พันธุ์มะพร้าวปลูกได้ทั้งหมด แต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาคิดหนัก เพราะไม่เคยเลี้ยง อีกอย่างก็กังวลว่าใครจะซื้อ ตามท้องไร่ท้องนาก็มี ลูกก็มาสอนให้ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต บอกตรงๆทำแบบไม่ตั้งใจ เอาไปแอบเลี้ยงไว้หลังบ้าน ไม่กล้าบอกเพื่อนบ้าน กลัวเขาหัวเราะ และเพิ่งกล้าติดป้ายที่หน้าบ้านเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมานี้เอง"
นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม เล่าต่ออีกว่า เมื่อก่อนฟาร์มเลี้ยงปูนาเป็นบ้านพักอาศัย แต่เดี๋ยวนี้มีปลวกขึ้นจึงย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน แล้วดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงปูนา เมื่อลูกปูนามีมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกชายได้เปิดเพจ "บ้านปูนาอุดรธานี" เป็นช่องทางการขาย เวลาผ่านไป 9 เดือน ขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ครั้งแรก 20 คู่ ในราคาคู่ละ 60 บาท ได้เงินมารวม 1,200 บาท จากนั้นก็ขยับราคาขายเพิ่มเป็นคู่ละ 70 และ 80 บาท แต่ก็มีลูกค้าสั่งซื้อมาต่อเนื่อง รายได้เฉลี่ยตกเดือนละ 6-7 หมื่นบาท บางเดือนขายได้เป็นหลักแสนบาท เรื่องของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการเลี้ยงก็ไม่มาก
ส่วนปูที่แม่ค้าสั่งไปทำอาหารก็จะขายราคากิโลกรัมละ 130 บาท แม่ปูจะออกลูกปีละ 3 ครั้งๆละ 400-600 ตัว แต่ต้องล้อเลียนธรรมชาติ (หลอกปู) ให้ผสมพันธุ์กัน โดยการใช้น้ำจากสปริงเกอร์ และน้ำไหลจากท่อ ทำเสมือนมีฝนตก เรามีกำลังเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในบ่อน้ำใส 3 หมื่นตัว ลูกปูที่เหลือเอาไปลงบ่อธรรมชาติ (ระบบปิด) ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 6 แสนตัว หรือประมาณ 3-4 ตัน
"ปูนาส่วนนี้จะเอาไปแปรรูป เป็นสินค้าของบ้านปูนาอุดรธานี มีผู้สนใจสั่งซื้อมาไม่ขาดสายจนทำขายไม่ทัน จึงมีแผนจะผลิตป้อนตลาดทุกวัน ขณะนี้กำลังสร้างโรงครัวขึ้นมาทำสินค้าอาหารแปรรูปจากปูนาขายโดยเฉพาะ รวมทั้งส่งขายร้านอาหารประจำ"
นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม อธิบายด้านเทคนิคต่ออีกว่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาเป็นพันธุ์กำแพงเพชร และพันธุ์พระเทพ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เลี้ยงอยู่คือลูกผสม การเลี้ยงในระบบน้ำใสและธรรมชาติเหมือนกัน จะใช้อาหารเดียวกันคือ อาหารเม็ดปลาดุก พืชผักสีเขียว และไม่มียาปฏิชีวนะหรือสารเคมี บ่อปูนาน้ำใสจะปล่อยน้ำออก หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อทุก 2-3 วัน ส่วนบ่อธรรมชาติมีเพียงปล่อยน้ำเพิ่มทุกวันเท่านั้น
เมื่อปูนาผสมพันธุ์จนตั้งท้องจะต้องเอาใจใส่สังเกตแม่ปูทุกขั้นตอน เมื่อพบตั้งท้องให้แยกมารวมเฉพาะแม่ปูไว้ที่บ่อผดุงครรภ์ จนแม่ปูสภาพใกล้คลอดจึงนำแยกออกมาที่ห้องคลอด คลอดแล้วแยกออกไปพักฟื้นจนแข็งแรง ส่งกลับมาผสมพันธ์อีก ส่วนลูกปูก็จะต้องเอามาอนุบาล คัดเลือกเอาไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อนนำไปที่บ่อเลี้ยงธรรมชาติ และปูนาที่เลี้ยงจะมีนิสัยเชื่องไม่ดุร้าย เพราะเราเลี้ยงเขาแบบเอาใจใส่เสมือนลูก ไม่เหมือนตอนที่เลี้ยงครั้งแรก โดนปูหนีบมือเจ็บแทบทุกวัน
นางพรเพ็ญ ยังได้เล่าถึงการใช้ภูมิปัญญาของคนอีสานมาช่วยเลี้ยงปูนาด้วยว่า มีช่วงวิกฤติปูนาป่วยตายทุกวันๆละ 1-2 กิโลกรัม ด้วยอาการท้องเสีย ลอกคราบไม่หมด และสาเหตุอื่นๆอีก แม่ของตนจึงแนะนำเรื่องยาโบราณ น่าจะใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด ตนจึงลองนำใบตอง หรือก้านกล้วย ใส่ลงในบ่อเลี้ยง เปรียบเทียบกับบ่อไม่ใช้ พบว่าบ่อใส่ใบตองปูนาไม่ตาย จึงนำมาใช้ในการเลี้ยง รวมทั้งการใช้หญ้าเนเปียที่มีโปรตีนสูงมาให้ปูนาที่ป่วยหรือไม่แข็งแรงกินเป็นอาหารเสริมด้วย
"ในอนาคตจะตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงและแปรรูปปูนาขายที่บ้านปูนาแห่งนี้ ส่งขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เพราะมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อสินค้าแปรรูปจากปูนาเป็นจำนวนมาก หลังจากทดลองทำแต่ไม่พอขาย และหากใครสนใจจะเลี้ยงปูนากรุณาสั่งซื้อล่วงหน้า เพราะต้องใช้เวลาเก็บและคัดเลือกปูนาตามที่ลูกค้าสั่ง โดยสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ในเพจบ้านปูนาอุดรธานี"
นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.อุดรธานี