ข่าว

หาดูยากปลาหน้าตาประหลาด ผู้รู้เฉลยเป็น "ปลาคางคก" มีพิษอ่อน

หาดูยากปลาหน้าตาประหลาด ผู้รู้เฉลยเป็น "ปลาคางคก" มีพิษอ่อน

21 พ.ย. 2563

กระบี่ฮือฮาพบปลาหน้าตาประหลาด ผู้รู้เฉลยที่แท้เป็น "ปลาคางคก" หรือปลาอุบ มักอาศัยตามโขดหิน-มีพิษอ่อนๆที่เงี่ยงครีบหลังและครีบอก

วันที่ 20 พ.ย. 2563 นายสมบูรณ์ เต็มชื่น นายอำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่ ได้โพสต์คลิปของปลาชนิดหนึ่งพร้อมระบุว่า "ปลาอะไรหน้าตาประหลาด ยกไซได้ที่กระชังปลาคลองทราย หลังบ้านพักนายอำเภอเกาะลันตา ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่" ซึ่งก็มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก


ปลาคางคก, ปลาอุบ, ปลาโปะ, ปลาประหลาด

 

 

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสมบูรณ์ เผยว่า วันนี้ได้ลงไปดูชาวประมงยกไซที่วางไว้ข้างกระชังปลา ผลปรากฏว่าได้ปลาตัวดังกล่าวขึ้นมาซึ่งตนก็ไม่เคยเห็น หน้าตาหน้ากลัว คล้ายหน้าคน ปากกว้าง ผิวขรุขระ มีตุ่มขึ้น จนได้สอบถามจึงทราบว่าเป็น "ปลาโปะ" ที่ชาวบ้านเรียกกัน และชื่อทางการคือ "ปลาคางคก" โดยส่วนใหญ่จะพบตามโขดหิน แต่ก็ไม่บ่อยนัก

 

ปลาคางคก, ปลาอุบ, ปลาโปะ, ปลาประหลาด

 

ขณะที่ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า "ปลาคางคก" นั้น ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลว่า ปลาคางคก หรือ ปลาอุบ ไม่ใช่ปลาประหลาดหรือสัตว์กลายพันธุ์แต่ประการใด และไม่ต้องตกใจเพราะทั่วโลกปลาคางคกมีประมาณ 80 ชนิด บางทีส่งเสียงร้องขู่หรือเรียกร้องความสนใจของปลาเพศเมีย

 

ปลาคางคก, ปลาอุบ, ปลาโปะ, ปลาประหลาด

 

 

"ผมเคยเจอสมัยเด็กๆ ลงไปเดินแถวๆแนวหิน เจ้านี่โผล่มาร้องอุบๆ เป็นเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากการขยับถุงลม บางทีจึงเรียกว่า ปลาอุบ ชาวบ้านบางพื้นที่กินปลากลุ่มนี้ เอามาทำแกงกะทิ นิยมเฉพาะบางพื้นที่ เลยไม่มีขายทั่วไปในตลาด ทำให้คนส่วนมากอาจไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจว่าเป็นปลาพิสดารหรือปลากลายพันธุ์เหมือนในหนังสัตว์ประหลาด" ดร.ธรณ์ ระบุ

 

ปลาคางคก, ปลาอุบ, ปลาโปะ, ปลาประหลาด

 

อย่างไรก็ตาม ปลาอุบ เป็นปลาน้ำกร่อยที่พบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำบริเวณที่น้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกัน ทำให้ปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม รูปร่างลักษณะคล้ายก้อนหิน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน บางครั้งจะพรางตัวอยู่ตามขอนไม้ ไม่มีเกล็ด แต่มีพิษอ่อนๆอยู่ที่เงี่ยงครีบหลังและครีบอก หากถูกทิ่มหรือแทงจะรู้สึกปวด ลำตัวโตเต็มที่ได้ราว 1 ฟุต ส่วนหัวและปากมีขนาดใหญ่เพื่อที่จะสามารถกินปลาได้ทั้งตัว โดยทั่วไปจะพบในแม่น้ำสายต่างๆของประเทศไทย แต่จะพบมากในทะเลสาบสงขลา ส่วนใหญ่แล้วชาวประมงมักจะนำมาทำเป็นอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำมาเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม

 

ข่าว/ภาพ บัญฑิต รอดเกิด ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กระบี่