เฉลยแล้ว "หินประหลาดโปร่งแสง" ที่ชาวบ้านขุดพบในสระน้ำคืออะไร
กรมทรัพยากรธรณี ร่อนเอกสารชี้แจง "ก้อนหินประหลาดโปร่งแสง" ที่ชาวบ้านขุดพบในสระน้ำ ที่แท้เป็น "แร่ควอตซ์" หรือแร่เขี้ยวหนุมาน ที่ใช้ทำแก้ว กระจก และขวดน้ำ
จากกรณีที่นางจิระประไพ กองสงคราม อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 9 บ้านโคกสะอาด ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ได้จ้างรถแบ็คโฮมาขุดสระน้ำที่บริเวณหลังบ้าน และได้พบกับก้อนหินประหลาด มีลักษณะโปร่งแสง มีทั้งสีขาวเหมือนสารส้ม และสีแดงเป็นจำนวนมาก โดยก้อนหินดังกล่าวมีรูปร่างหลากหลายรูปแบบ บางก้อนมีลักษณะคล้ายผลึกโปร่งแสง มีพื้นผิวที่มีความมันวาว สะท้อนแสงระยิบระยับสวยงาม
นางจิระประไพ เปิดเผยว่า สระน้ำที่จ้างรถแบ็คโฮมาขุดดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ความลึกประมาณ 8 เมตร เพื่อเตรียมสร้างบ้าน พอขุดลงไปได้ประมาณ 2-3 เมตร ก็พบหินอยู่บริเวณก้นสระน้ำเต็มไปหมด มีทั้งหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ เรียงรายอยู่ โดยหินก้อนที่มีขนาดใหญ่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 5-6 นิ้ว ยาวประมาณ 7-8 นิ้ว และในขณะที่รถแบ็คโฮขุดได้มีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น เนื่องจากมีแสงไฟประหลาดพุ่งสะท้อนขึ้นมา จนคนขับรถแบ็คโฮต้องมาถามเจ้าของที่ดินว่าแถวนี้เจ้าที่แรงหรือไม่ เพราะมีแสงไฟปริศนาประหลาดพุ่งขึ้นมา และมีบางช่วงรถแบ็คโฮไม่สามารถขยับเคลื่อนที่ได้ คนขับรถแบ็คโฮจึงได้นำก้อนหินมาให้ดู ซึ่งตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคือหินอะไร ส่วนตัวไม่เคยพบเห็นหรือเจอมาก่อน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้วันที่ 20 พ.ย.2563 กรมทรัพยากรธรณี ได้มีหนังสือชี้แจงว่า หินประหลาดโปร่งแสงที่ชาวบ้านขุดพบ คือ แร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ที่มีซิลิก้าเป็นองค์ประกอบ ตามธรรมชาติจะมีสีขาวโปร่งแสงและใสเหมือนกระจก หากเป็นผลึกจะเรียกว่า "หินเขี้ยวหนุมาน" โดยธรรมชาติแร่ควอตซ์จะมีหลายสี ถ้าสีม่วงจะเรียก Amethyst , สีเหลืองเรียก Citrine เป็นต้น
คุณสมบัติของแร่ควอตซ์มีความคงทนต่อการถูกทำลายสูง มีความแข็งเท่ากับ 7 (เพชรความแข็งเท่ากับ 10) ในธรรมชาติเมื่อแร่ควอตซ์ผุพัง ถูกกัดเซาะทำลาย จะแตกสลายเป็นเม็ดกรวด ทราย ปะปนอยู่ในดินทั่วไป รวมทั้งสันทรายหรือชายหาด
ส่วนประโยชน์ของแร่ควอตซ์ นำมาหลอมในอุตสาหกรรมแก้ว กระจก ขวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ทรายแก้วที่ได้จากการผุพังและสะสมตัวของควอตซ์ สำหรับควอตซ์ที่บริสุทธิ์นำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออพติด และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนำมาถลุงได้ธาตุซิลิคอน (Si) ซึ่งนำธาตุโลหะซิลิคอนมาผลิตเซลล์แสงอาทิตย์
สำหรับประเด็นที่ว่ามีแสงพุ่งขึ้นมาตอนที่รถแบ็คโฮกำลังขุดดินนั้น น่าจะเกิดจากตัวตักของรถแบ็คโฮที่เป็นเหล็ก กระทบกับหินที่เป็นควอตซ์ที่แข็งกว่าจนทำให้เกิดประกายไฟแล็บ ลักษณะเช่นเดียวกับเวลาที่มีโลหะขูดกับถนนนั่นเอง
ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตะกอนน้ำไหล จึงทำให้มีโอกาสพบหินแปลกๆตามที่ชาวบ้านเห็น หรือที่เรียกว่า แร่ควอตซ์ ซึ่งน่าจะเป็นชนิดคาลซิโดนี ถ้าแร่ควอตซ์ตกผลึกเป็นเหลี่ยมๆจะเรียก "หินเขี้ยวหนุมาน" แต่ถ้ามีสีก็จะเรียกชื่อต่างๆ เช่น สีม่วงก็จะเรียกอเมทิสต์ แต่อันนี้มันเป็นสีใส เพราะฉะนั้นก็เป็นแร่ควอตซ์ธรรมดาเท่านั้น
หากถามว่ามีประโยชน์อะไรไหม ถ้ามันมีความแข็ง มีสีสัน ก็สามารถนำไปเจียระไนเป็นหัวแหวนได้ แบบแถวลพบุรีที่เรียกว่า โมกุล แต่ต้องมีมากพอสมควร และต้องมีสี มีลวดลาย ชาวบ้านถ้าจะใช้ประโยชน์กันจริงๆก็จะต้องไปเรียนการเจียระไน ซึ่งความแข็งอยู่ในระดับ 7 รองจากเพชรที่อยู่ในระดับ 10 การเจียระไนก็จะยาก
"สรุปว่าก็เป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แถบนี้ถ้าขุดไปก็น่าจะเจออีก ถ้าเอาไปขายทั่วไปก็ไม่มีราคา นอกจากว่าชาวบ้านจะเอามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน มาเจียระไนเป็นหัวแหวน ก็ต้องมีเครื่องมือมีการลงทุน และต้องมีลวดลายมีสีสัน รวมทั้งไม่ใช่อัญมณีที่คนนิยมใช้ทั่วไป"
ข่าว/ภาพ บุรฉัตร ศิริวัฒนาเกษม ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.เพชรบูรณ์