"พิธา" ชี้รัฐสวัสดิการสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ
"พิธา" ชี้รัฐสวัสดิการสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ ด้าน "พ.ต.อ.ทวี" อัดรัฐธรรมนูญสร้างความเหลื่อมล้ำ
28 พ.ย.63 ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดมหกรรม “รัฐธรรมนูญสู่รัฐสวัสดิการ : ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ” โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ร่วมแสดงความเห็นในประเด็น ความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณประเทศเพื่อรัฐสวัสดิการ
โดยนายพิธา กล่าวว่า เวลามีการพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการหลายคนมักจะพูดถึงเรื่องของงบประมาณ แต่ไม่มีใครพูดถึงผลที่จะได้รับ โดยวันที่ตนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เป็นช่วงที่สวัสดิการสังคมถูกท้าทายมากที่สุด เป็นช่วงที่ภัยโควิด-19 เข้ากระแทกประเทศไทยอย่างรุนแรง ทั้งนี้ขอยืนยันว่าบำนาญที่ร่าง พ.ร.บ.บำนาญชราภาพ เสนอไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทนั้น มีความเป็นไปได้ และไม่เป็นภาระทางการเงินการคลัง แต่ต้องยอมว่าจะต้องใข้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณ 500,000 ล้านบาท เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคของวัยผู้สูงอายุ โดยการจะทำให้มีรัฐสวัสดิการนั้นจะต้องนำทหารออกไปก่อน ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปทหาร เพื่อลดงบประมาณแล้วนำมาใช้ในรัฐสวัสดิการ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือการหารายได้จากแหล่งใหม่ๆ เช่น การจัดเก็บภาษี
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้คิดว่ามีความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ แต่ก่อนที่จะถึงเรื่องความเป็นไปได้นั้น ก็มีความยาก ความท้าทาย เพราะการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย เพราะเราถือรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งคือรัฐธรรมนูญต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญนิยมจะมีการแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยนั้นมี 4 รัฐมาโดยตลอด คือ 1.รัฐประหาร 2.รัฐธรรมนูญ 3.รัฐสภา 4.รัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีรัฐอิสระที่คอยจัดการตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีอำนาจมาก
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ทุกอย่าง อย่างเช่น เรื่องของผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการไปพิสูจน์ความยากจนพิสูจน์ความยากไร้ ต้องทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อมาดูในเรื่องของงบประมาณแทบจะไม่มีทางออก เพราะการจัดตั้งงบประมาณจะต้องยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ดังนั้นการแก้ความเหลื่อมล้ำวันนี้ไม่ต้องแก้อะไรมาก เพียงแต่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เสมอกัน นั่นก็คือรัฐสวัสดิการ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญที่จะต้องเขียนให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันยังมีรัฐประหารเงียบอยู่ด้วย คือในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในระบบประชาธิปไตย อำนาจบริหารนั้นจะต้องยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนจะต้องสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านระบบตัวแทนได้ แต่วันนี้มีรัฐประหารเงียบทำให้ให้ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นแกนนำในการผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการและร่าง พ.ร.บ.บำนาญชราภาพ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.บำนาญชราภาพที่ภาคประชาชนได้เสนอไป ว่า ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ยังไม่มีการตีตกหรือตอบรับใด ซึ่งคิดว่านี่คือความฉลาดของรัฐบาล ที่ยังมีการคิดหน้าคิดหลังอยู่ เพราะหากเป็นรัฐบาลที่ไม่คิดเรื่องสวัสดิการของประชาชา เขาจะปัดตกกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ปัจจุบันมีการเสนอผ่านคณะกรรมาธิการสวัสดิการฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นพรรครัฐบาลควบคุมอยู่ แต่พบว่าทุกพรรคเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะต้องการผลักดันให้สำเร็จ เพื่อเป็นผลงานของตัวเอง เพื่อเอาใจประชาชน