ข่าว

รู้จัก "หมึกบลูริง" พิษอันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร

รู้จัก "หมึกบลูริง" พิษอันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร

01 ธ.ค. 2563

ทำความรู้จัก "หมึกบลูริง" อันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร หลังมีการพบหมึกบลูริงเสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัด จ.ปทุมธานี

กรณีโลกออนไลน์ พบหมึกบลูริงเสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัด จ.ปทุมธานี ซึ่งในเวลาต่อมา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ย้ำเตือน ปชช. บอกว่า พิษของหมึกบลูริงที่ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนหากพบเห็นให้รีบหลีกเลี่ยง ห้ามสัมผัสและบริโภคเด็ดขาด 

 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เตรียมประสานทุกจังหวัดทั่วประเทศ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของหมึกบลูริง หากพบเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที

อ่านข่าว : "ปลัดจตุพร"สั่ง"กรมทะเล"แจ้งด่วนทุกจังหวัด กินหมึกบลูริงพิษถึงตาย "วราวุธ"ห่วงใยสั่งให้ขยายผลถึงปักเป้าและแมงกระพรุน

 

 

รู้จัก \"หมึกบลูริง\" พิษอันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร

 

ขณะเดียวกัน ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ หมึกบลูริง หรือ หมึกสายวงสีน้ำเงิน โดยระบุว่า หมึกชนิดนี้มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง นับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

 

สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเตโตรโดท็อกซินมีอัตราตายสูงถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

 

พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ำเงินกัดจะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด (แต่จะนานอย่างน้อย 15 นาทีถ้าเกิดจากการกินปลาปักเป้า) โดยเริ่มจากการชาบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาชาบริเวณใบหน้า แขนขาและเป็นตะคริวในที่สุด น้ำลายไหลคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานผิดปกติ อ่อนแรง ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก ระบบประสาทส่วนกลางจะไม่ทำงาน หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4 - 6 ชั่วโมงแต่ก็มีรายงานการเสียชีวิตเร็วที่สุดหลังจากได้รับพิษไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น

 

- เราจะพบหมึกชนิดนี้ได้บ่อยไหม

 

หมึกสายวงน้ำเงินมีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศผู้จะตายหลังจากการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวง จำนวน 20-300 ฟองไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัยโดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี

 

ในเวลากลางวันหมึกสายวงน้ำเงินมักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอย แล้วจึงออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น

 

ปัจจุบันทั่วโลกพบหมึกสายวงน้ำเงินทั้งหมด ประมาณ 4 ชนิด สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบหมึกสายวงน้ำเงิน สกุล Hapalochlaena maculosa ในน่านน้ำไทยทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย

อ่านข่าว : เตือนภัย จะซื้อปลาหมึกกิน สังเกตให้ดี ไม่งั้นอาจถึงชีวิต แม้ปรุงสุกพิษก็ไม่สลาย

 

รู้จัก \"หมึกบลูริง\" พิษอันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร

 

- ความต่างจากหมึกทั่วไป

 

หมึกสายวงน้ำเงินหรือ หมึกบลูริง เป็นหมึกยักษ์จำพวกหนึ่งแต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร หมึกสายวงน้ำเงินมีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลำตัวและหนวด 

 

ซึ่งจะตัดกับสีของลำตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มากจึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในหลายๆประเทศ

 

สำหรับ หมึกชนิดนี้มีรายงานในประเทศอยู่บ้าง โดยเฉพาะแถวประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร อย่างไรก็ตาม หมึกชนิดนี้เป็นหมึกที่อยู่ตามพื้นทะเล ในเมืองไทยไม่เคยมีรายงานว่าพบตามชายหาดที่มีคนเล่นน้ำ โดยแม้แต่ตามพื้นทะเล สำรวจพบอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะจนพบบ่อยทั่วไป 

 

อาจพบได้โดยนักดำน้ำบริเวณด้านนอกแนวปะการัง จึงไม่ต้องตื่นตกใจ โดยพิษของหมึกชนิดนี้มาจากการกัด ไม่ควรจับเล่น หรือโดนตัว และนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากพิษของหมึกไม่สลายแม้โดนความร้อน

 

 

รู้จัก \"หมึกบลูริง\" พิษอันตรายถึงตายแม้กินปรุงสุก พบได้ที่ไหน หากโดนพิษต้องทำอย่างไร

 

 

สำหรับสารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ทั้งนี้เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งในหมึกสายวงน้ำเงินและปลาปักเป้าไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้ 

 

มีการศึกษาพบว่าพิษนี้สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp.,Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบพึ่งพา (symbiosis) โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ

 

- หากโดนพิษ เบื้องต้น ทำอย่างไร

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทำให้สมองตาย 

 

สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงินควรทำการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว เพื่อทำให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย 

 

ถ้าถูกกัดบริเวณลำตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วยแต่อย่าให้แน่นจนทำให้หายใจลำบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้นเทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่รับประทานปลาปักเป้านั้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

 

 

ข้อมูลจาก ทรัพยากรชายฝั่งทะเลและชายฝั่ง