ข่าว

ปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ในฐานะผู้รับบริจาคหาชุดให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลนานกว่า 20 ปี

ปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ในฐานะผู้รับบริจาคหาชุดให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลนานกว่า 20 ปี

02 ธ.ค. 2563

มูลนิธิกระจกเงา แถลงการณ์ ปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ในฐานะผู้รับบริจาคหาชุดให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลนานกว่า 20 ปี เรียกร้องขอให้ทบทวนและเปิดอภิปรายเรื่องระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียน

จากกรณีการเคลื่อนไหวของนักเรียนรวมกลุ่ม 23 โรงเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพื่อเป็นการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย ส่งผลให้เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.2563) แฮชแท็ก #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ขึ้นมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 อย่างไรก็ตามการแสดงออกของนักเรียนทำให้เกิดการลงโทษหรือปฏิกิริยาโต้กลับของคุณครูและโรงเรียนในฐานะผู้ควบคุมกฏระเบียบในโรงเรียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มูลนิธิกระจกเงา ได้มีการออกแถลงการณ์ในฐานะที่เป็นผู้รับบริจาคหาชุดนักเรียนมือสองให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล ตามชนบททุกๆ ปี โดยทางมูลนิธิฯ ได้ร่ายยาวเกี่ยวกับเรื่อง ต้องมีการทบทวน และอภิปรายระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียน โดยมีเนื้อหา ใจความสำคัญดังต่อไปนี้

 

แถลงการณ์มูลนิธิกระจกเงา เรื่อง ต้องมีการทบทวน และอภิปรายระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียน

 

มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรที่เปิดรับบริจาคชุดนักเรียนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา เราส่งต่อชุดนักเรียนไปทั่วประเทศแล้วหลายหมื่นชุดเห็นได้ชัดว่า ผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่ระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียนยังเป็นปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมาก สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม แม้เราเห็นว่าเป็นภาระ แต่กฎระเบียบโรงเรียนได้กำหนดให้ผู้ปกครอง และเด็กต้องทำตาม

 

ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นเพียงมูลนิธิ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์องค์กรหนึ่ง การขับเคลื่อนโดยลำพังย่อมไม่มีขีดความสามารถที่จะผลักดันให้เกิดการยุติความเหลื่อมล้ำนี้ ที่ผ่านมาเราจึงเพียงขอทำหน้าที่ในการอุดข้อจำกัดของชุดนักเรียนนี้ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเราสนับสนุนให้เกิดการใส่เครื่องแบบนักเรียน อันนำมาซึ่งความเดือดเนื้อร้อนใจของผู้ปกครองและเด็ก

 

เราไม่เชื่อว่าการใส่ชุดนักเรียนจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวินัยได้ใน 5 วันต่อสัปดาห์ เด็กนักเรียนต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน 2 วัน เครื่องแบบลูกเสือ 1 วัน เครื่องแบบพละ 1 วัน และหากเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัด ยังมีชุดพื้นเมืองที่ต้องจัดหาเพิ่มอีก 1 ชุด

 

ในขณะที่รัฐอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน

 

- ระดับอนุบาลคนละ 300 บาท/ปี

- ระดับประถมศึกษา คนละ 360 บาท/ปี

- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คนละ 450 บาท/ปี

- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คนละ 500 บาท/ปี

- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ คนละ 900 บาท/ปีเท่านั้น

 

ทำให้ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียนจึงเกินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้อยู่มาก

 

เราจึงพบเห็นได้อยู่เสมอว่า มีเด็กในพื้นที่ห่างไกล หรือในโรงเรียนขนาดเล็กเด็กยากจน จะมีชุดนักเรียนอยู่ชุดเดียวซัก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และใส่จนดำ เด็กบางคนใส่ชุดนักเรียนทับกันสองชั้นเพื่อทับจุดที่ขาดของแต่ละตัวไว้ เด็กบางคนใส่ชุดนักเรียนแต่ไม่มีรองเท้านักเรียนให้ใส่ และเด็กบางคนไม่มีถุงเท้านักเรียนใส่ ในขณะที่ฝั่งของผู้ปกครอง ก็จะถูกกดดันให้จัดหาเครื่องแบบนักเรียน หากครอบครัวไหนที่ไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ เหมือนจะถูกตีตราว่าไม่สนับสนุนการศึกษาของลูก

 

เราไม่รู้หรอกว่า จุดลงตัวจะอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ แต่มูลนิธิกระจกเงา ขอเรียกร้องให้เกิดการทบทวนและอภิปรายในเรื่องเครื่องแบบนักเรียน กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และหมายรวมถึงการทบทวนสิทธิเสรีภาพเด็กที่ควรมีต่อเนื้อตัวร่างกายของตนเอง

 

มูลนิธิกระจกเงา

1 ธันวาคม 2563

อ่านข่าว : ชูวิทย์ งง ชุดนักเรียน-ทรงผม เกี่ยวอะไรกับสมอง ซัดคนเป็นอาจารย์แต่แนะเด็กแก้ผ้าไปเรียน

 

 

 

 

 

CR มูลนิธิกระจกเงา