ศาล รธน. วินิจฉัย" พล.อ.ประยุทธ์" พ้นผิด พักบ้านหลวง
ด่วน ศาล รธน. วินิจฉัย พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิดพักบ้านหลวง ได้นั่งนายกฯต่อ
วันที่ 2 ธ.ค. 63 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คดีพักบ้านหลวง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จากกรณียังพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหารภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต แม้ว่าจะเกษียณอายุมาแล้ว 6 ปีก็ตาม
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นวินิจฉัยมีว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ นับแต่เมื่อใด
พล.อ.ประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อปี 2553 ตั้งอยู่เลขที่ 253/54 กรมทหารราบที่ 1 บ้านหลังนี้มีการปรับเปลี่ยนเป็นบ้านรับรองของกองทัพบก ในปี 2555
ระเบียบการเข้าพักในบ้านพักทหาร เปิดให้อดีตผู้บังคับบัญชาที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและอดีต ผบ.ทบ.เข้าพักได้ บ้านพักรับรองของกองทัพบก มีระเบียบว่า ถ้าย้ายออกจากกองทัพ เกษียณอายุราชการ หรือกองทัพบกไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ แต่ระเบียบก็เปิดให้พิจารณาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษได้
ผู้บัญชาการทหารบกชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าพักที่บ้านพักรับรองได้ เพราะเป็น ผบ.ทบ. เมื่อเกษียณแล้วในปี 2557 ยังดำรงตำแแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงยังมีสิทธิ์พักอาศัย เพราะถือเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูง อดีต ผบ.ทบ. เคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่ใช่การเข้าพักในสถานะนายกรัฐมนตรีเพียงสถานะเดียว ถ้าไม่ได้เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพ แม้เป็นนายกฯ ก็เข้าพักไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงบ้านพักทหาร เป็นบ้านพักรับรองในภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าพักแล้ว เป็นเรื่องที่กระทำได้ การสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ เป็นไปตามระเบียบ และเป็นการให้สิทธิ์แก่บุคคลที่เข้าเงื่อนไขและมีคุณสมบัติเข้าพัก ไม่ใช่สนับสนุนเป็นกรณีพิเศษสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ระเบียบทั้งหมด มีมาก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. และก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัยให้กับผู้นำประเทศและครอบครัว ถือเป็นประโยชน์ส่วนรวม ส่วนบ้านพิษณุโลกอยู่ระหว่างบำรุงรักษา ยังไม่พร้อมใช้ รัฐพึงจัดให้นายกรัฐมนตรีมีที่พักอย่างสมเกียรติ ฉะนั้นการให้กองทัพบกจัดที่พักให้ พร้อมสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม และกระทำได้ รวมทั้งกระทำมาก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากบุคคลอื่น
จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นกรณีถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยประการที่จะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ซึ่งส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อไป
ทั้งนี้ คดีพักบ้านหลวงดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 25-27 ก.พ. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เปิดประเด็นกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ ในระหว่างเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยังพักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ในลักษณะที่ร้ายแรง
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จนกระทั่ง ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งคู่ความว่ามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ รับไต่สวนแล้ว เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดอ่านวินิจฉัยในวันนี้( 2 ธ.ค.63 )
ซึ่งคำวินิจฉัยที่ออกมาก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มีความผิดและได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป