ข่าว

เปิด"บ้านพิษณุโลก" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

เปิด"บ้านพิษณุโลก" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

02 ธ.ค. 2563

เปิด"บ้านพิษณุโลก" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

กลับมาเป็นที่สนใจกันอีกครั้งสำหรับบ้านพิษณุโลก พักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จะว่าไปแล้วจากข้อมูลยังไม่เคยมีผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนไหนที่ย้ายเข้ามาพักที่บ้านพิษณุโลกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว กระทั่งมีการไปร่ำลือกันถึงอาถรรพ์ต่างๆนานา 

“บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” หมายถึงนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือพระนารายณ์หลับ ณ เกษียรสมุทร (ทะเลนม) บนหลังอนันตนาคราช ในความเชื่อตามลัทธิเทวราชนั้น กษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารมาเกิด  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ใน พ.ศ. 2465 บนที่ดินประมาณ 50 ไร่ในอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร โดยมีมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลีประจำกระทรวงโยธาธิการเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและออกแบบบ้าน เมื่อสร้างเสร็จพระองค์พระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์ให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ และถ้าหันหน้าเข้าตัวบ้าน ด้านขวามือจะเป็นสโมสร อัศวราช หรือ กองม้าต้น (ตระกูลที่มี “ศวิน”)

 

                          เปิด\"บ้านพิษณุโลก\" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

                           บ้านบรรทมสินธุ์ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2489  (ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติเนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้แต่ได้รับการปฏิเสธ พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวได้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดนนทบุรีและไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์แต่อย่างใด

 

                      เปิด\"บ้านพิษณุโลก\" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่


ในระหว่างสงครามโลครั้งที่ 2 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวาเพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2485  รัฐบาลได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม บ้านไทย- พันธมิตร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสันติภาพ” และ เมื่อปี 2496 จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีมติให้เปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนนซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้าน 

                      เปิด\"บ้านพิษณุโลก\" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

มาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ทำการบูรณะปรับปรุง "บ้านพิษณุโลก" เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แต่หลังจากซ่อมแซมอยู่นาน และเสร็จในสมัยของ  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ย้ายเข้ามา แต่ปรากฏว่าได้ย้ายเข้ามาได้เพียง 2 คืน จากนั้นก็กลับไปนอนที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ตามเดิม

ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยเรียกกันติดปากสื่อมวลชนว่า "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" แต่ไม่ได้มีการใช้เป็นที่พัก โดยนายกรัฐมนตรียุคต่อมามีเพียง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกหลังนี้และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอนไม่ได้มีการใช้เตียงนอนภายในห้องนอนของบ้านแต่อย่างใด และหลังจากนั้นแล้วก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับแขกเท่านั้น
 

                             เปิด\"บ้านพิษณุโลก\" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

"บ้านพิษณุโลก" มีกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่าผีดุจนเป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พักได้เพียง 2 วันเท่านั้น ก็ย้ายออกไปแต่เมื่อสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ซึ่งเป็นทายาทของพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งเคยพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อสมัยเด็กก็ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องผีดุแต่อย่างใดทั้ง ๆ ที่ตนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้ไป แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ยังมีการเล่าลือกันว่า หากทำอะไรเหมือนการไม่เคารพสถานที่ เป็นเจอดีกันทุกราย บางคนได้ยินเสียงม้าร้องในตอนดึกๆ บางคนเห็นผู้หญิงในชุดสไบเดินไปเดินมา และในเขตบ้านยังมีศาลท้าวหิรัญฮู ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างบ้านหลังนี้ อาถรรพท้าวหิรัญฮูนั้นมีเล่ากันมากมาย ปัจจุบันศาลของท่านที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยังมีผู้ไปกราบไหว้ขอพรอยู่เสมอๆ

แต่ถึงแม้ว่าจะมีเสียงลือถึงเรื่องอาถรรพ์ต่างๆนานา แต่ครั้งหนึ่งบ้านพิษณุโลก ยังเคยใช้เป็นฉากของ "บ้านทรายทอง" ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ ดาราแสดงนำคือ พอเจตน์ แก่นเพชร เป็น ชายกลาง และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็น พจมาน สว่างวงศ์ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น ทำให้บ้านพิษณุโลกเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากกว่าเดิม 

                               เปิด\"บ้านพิษณุโลก\" บ้านประจำตำแหน่งที่ไร้นายกฯเข้าอยู่

 



ขอบคุณภาพ และ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย   ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย / Five Star Movies