เปิดสถานการณ์เด็กไทยติดเกม เผชิญหน้าภัยออนไลน์ทั้งพนัน กลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ
เปิดสถานการณ์เด็กไทยติดเกม เผชิญหน้าภัยออนไลน์ทั้งพนัน กลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ สช. - สสดย. - สสส. จัดเวทีปลุกสังคมตื่นตัว ดึงครอบครัวช่วยเติม "ความรัก" ด้วย "ความรู้" สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อให้เด็กและเยาวชน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวที “เติมความรักด้วยความรู้...อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นวิทยากรรับเชิญพิเศษในการเสวนาฯ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆและปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกลุ่มผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆกันอย่างเข้มข้น
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า "จากการศึกษาผลกระทบเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี พ.ศ.2561 พบว่า มีสถานการณ์วิกฤตภัยออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน อาทิ ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาการพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ การขาดกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์
ผลสำรวจออนไลน์ในปี 2563 ยังพบว่า เด็กร้อยละ 90 เล่นเกมออนไลน์ ในจำนวนนี้เด็กมากกว่าครึ่งใช้เวลาเล่นมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15 มีการเล่นพนันในเกม ขณะที่เด็กร้อยละ 80 ลุกขึ้นมาเสนอให้มีการจัดเรตติ้งเกม รวมทั้งให้มีกฎหมายควบคุมดูแลธุรกิจเกมเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในโลกออนไลน์ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเห็นความสำคัญ ตื่นตัว รับรู้ถึงภัยออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมหาทางออกด้วยวิธีการทางจิตวิทยาที่สร้างสรรค์ ใช้ความรักความเข้าใจจากครอบครัว ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รู้เท่าทันสื่อและอยู่อย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์"
บรรยากาศภายในงานเริ่มต้นด้วย ผศ.ดร.วีรศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน "เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการเติมเต็มประเด็นปัญหาเยาวชนกับภัยออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม ต้องยอมรับว่าวันนี้ทุกคนอยู่กับเทคโนโลยีตลอด 24 ชม. เราพูดถึง Digital Interupt ที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็สร้างผลเสียให้เกิดขึ้นได้หากเรารู้ไม่เท่าทัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมมือกันเพื่อช่วยกันปกป้องคนที่เรารัก ไม่ใช่แค่เด็ก แต่หมายถึงทุกคนในครอบครัว ด้วยความรักและความเข้าใจ"
จากนั้น รศ.จุมพล รอดคำดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อเพื่อเด็ก ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า "โลกออนไลน์เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง เพราะถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็น จะนำพาสิ่งดีงามและประโยชน์มาให้เรามากมาย แต่หากเราไม่รู้เท่าทัน โลกออนไลน์ก็จะนำพาข่าวสารที่หลอกลวง ความเชื่อผิดๆ รุกเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว บางคนยังใช้โลกออนไลน์เพื่อทำร้ายทำลายคนอื่น สร้างความเสียหาย ระราน ใช้คำพูดดูถูกดูแคลนผู้อื่นในโลกออนไลน์จนนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจ เกิดปัญหาฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เวทีวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราทุกคนจะมาช่วยกันหาวิธีในการที่เราจะอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข ช่วยกันเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจในครอบครัวให้สามารถเผชิญหน้ากับโลกออนไลน์ได้อย่างแข็งแกร่ง"
กิจกรรมไฮไลท์หลักภายในงานคือวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาในประเด็น "เติมความรักด้วยความรู้...อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์" โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมเสวนาร่วมกับตัวแทนจาก สสส. กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คุณครูผู้นำกระบวนการ และศิลปินตัวแทนผู้ปกครอง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "ปัจจุบันการศึกษาไทยอยู่ควบคู่ไปอย่างใกล้ชิดกับโลกออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการเองมีความตระหนักและเข้าใจเรื่องนี้ ขณะนี้เรากำลังศึกษาและมองหากระบวนการที่จะแนะนำเรื่องของไอที หรือแม้แต่การเล่นเกมออนไลน์ไปในทางที่ถูกต้องให้กับเด็ก เพื่อที่เด็กที่มีความสนใจในด้านนี้จะได้มีโอกาส มีทางเลือก เราจะไม่ปิดกั้น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำไปอย่างผสมผสานควบคู่ไปกับการแนะแนววิชา อาชีพ และความสนใจอื่นๆ ด้วยไปพร้อมกัน เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือประเด็นของการคุกคามทางเพศและการกลั่นแกล้งออนไลน์ มาถึงวันนี้ทุกคนต้องกล้าที่จะพูดคุยและหยิบปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง วันนี้เราต้องยอมรับก่อนว่าในโลกออนไลน์มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการเองยอมรับว่าปัญหาทุกอย่างมี และเรากำลังเร่งมองหาวิธีที่จะบริหารจัดการเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างรู้เท่าทันและมีความสุข"
ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "สุขภาวะทางสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญ ระบบนิเวศสื่อเป็นเรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวเรา เราได้ความรู้ผ่านสื่อแต่ขณะเดียวกันก็มีสิ่งไม่ดีที่ผสมปนเปมากับเนื้อหาสื่อด้วยในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรมแนวคิดที่เรียกว่า MIDL หรือ Media Information and Digital Literacy ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาหาเรา พัฒนาทักษะให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ การเริ่มต้นสามารถทำได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว โรงเรียน และที่สำคัญที่สุดคือ การเริ่มต้นเพิ่มความรู้และทักษะนี้ให้กับตัวเราเอง ขณะนี้ สสส. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำสื่อและคู่มือการเรียนรู้ทักษะการเท่าทันสื่อ MIDL นี้ในหลากหลายรูปแบบ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ สสส. และดาวน์โหลดมาเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย"
ในส่วนของ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น หรือ หมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้กล่าวว่า "ปัญหาเด็กกับโลกออนไลน์เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เวลาที่ผู้ใหญ่มองปัญหามักมองที่ยอดของภูเขาแต่แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านั้นมีที่มาและซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น เด็กจำนวนหนึ่งหันเข้าหาโลกออนไลน์เพื่อแสวงหาตัวตนที่ไม่สามารถมีได้ในโลกของความเป็นจริง ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนหยิบยื่นมือถือให้ลูกเพราะคิดว่าลูกโตแล้วจัดการตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงเด็กๆ ทุกคนมีวุฒิภาวะที่ไม่เท่ากัน ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยเขาด้วยการวางกติกา ง่ายที่สุดคือ การฝึกให้เด็กทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน ค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้บริหารจัดการตัวเอง สิ่งสำคัญคือวิธีการสื่อสารของบุคคลที่แวดล้อมตัวเด็ก พ่อแม่ต้องใช้การลงมือทำแทนการพร่ำบ่นและตำหนิ เปิดพื้นที่ปลอดภัย รับฟังความต้องการของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ในทุกครอบครัว"
ด้าน คุณครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์ ผู้นำกระบวนการ HACKATON นวัตกรรมการศึกษาของไทย ได้กล่าวว่า "วันนี้ในห้องเรียนเราจะเห็นเด็กสื่อสารกันทางออนไลน์ตลอดเวลา โทรศัพท์มือถือกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กจะสามารถสื่อสารอะไรก็ได้ ปัญหาคือข่าวที่แชร์ต่อกันเป็นข่าวจริงหรือเปล่า? ที่ผ่านมาจะใช้วิธีคุยกับเด็กในห้องเรียน กรณีถ้ามีใครโพสต์หรือแชร์ข่าวที่ผิดๆ มาก็ให้บอกกันอย่างมีไมตรี ไม่โกรธเคืองกัน สิ่งสำคัญคือครูต้องอย่ามองเด็กเป็นแค่เด็ก แต่ต้องมองเป็นคนที่เท่าเทียมกัน สามารถคุยกันได้ ครูและเด็กต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน และทั้งครู โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่รับฟังเด็ก เป็นการรับฟังที่มากกว่าแค่ได้ยินผ่านหู แต่ต้องฟังด้วยใจรับรู้ถึงความรู้สึกของเด็กอย่างแท้จริง"
ขณะที่ ผุสชา โทณะวณิก ศิลปินที่มีร่วมเวทีในฐานะผู้ปกครอง ได้กล่าวว่า "เป็นคุณแม่ที่ปัจจุบันลูกมีอาชีพเป็น Game Youtuber แต่ว่าก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ทะเลากับลูกมาจนเรียกว่าบ้านแตก เครียดกันทั้งบ้าน จนถึงจุดหนึ่งจึงเปิดใจคุยกับลูกอย่างจริงจัง ว่าขอใช้ลูกรับผิดชอบเวลาและอนาคตของลูกให้ได้ ก็พบว่าลูกสามารถจัดการตัวเองได้ดีขึ้น อยากให้ผู้ปกครองเปิดใจว่าปัจจุบันโลกกลายเป็นดิจิทัลแล้ว ต้องเข้าใจว่าเกมเป็นเรื่องใหม่ มันสามารถพัฒนาโลกไปในอนาคตได้ สำหรับในส่วนของเด็ก อยากให้เด็กๆ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะเล่นเกมไปเพื่ออะไร ต้องคิดให้ดี เลือกเลยว่าเราจะเล่นเกมไปแบบไหน เล่นเพื่อความสนุก ผ่อนคลาย หรือเล่นเป็นอาชีพ จากนั้นให้บริหารจัดการการเล่นเกมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ให้ได้ รับผิดชอบตัวเองให้ดี และแบ่งเวลาให้เป็น"
ปิดท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวใจความสำคัญว่า "ขณะนี้ทุกภาคส่วนรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขต่างมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์ วันนี้เราพูดถึงเรื่องโอกาสในการเข้าถึงและการรับข่าวสารในโลกออนไลน์ แต่ในอีกด้าน ความสามารถในการกลั่นกรองข่าวสารที่เข้ามาหาเรากลับเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการพิจารณาข้อมูลด้วยความรอบคอบ เพราะขณะนี้การพนันออนไลน์กระจายอยู่ทั่วทุกที่ในสังคม ปัญหาการพนันนำไปสู่ความรุนแรง ความเครียด การฆ่าตัวตาย แต่สิ่งเหล่านี้เรารับมือได้ด้วยการรับฟังและพูดคุยกันในครอบครัว ร่วมเรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตไปกับโลกของเทคโนโลยีได้อย่างมีวุฒิภาวะและปลอดภัย"