โฆษกกทม.ระบุ PM 2.5 คุมไม่ได้ ชี้ข้อมูลอุตุ อีก 2-3 วันอากาศไหลเวียนดี
โฆษก กทม. แจงภาวะPM 2.5 ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.ต่อเนื่องเรื่อยมา ไม่ใช่ความนิ่งนอนใจของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ร่วมเดินหน้ามากว่า 2 เดือน ทั้งจับมือเผา งดก่อสร้าง ลดการเรียนการสอน ชี้เป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ แต่คาดอีก 2-3 วันอากาศจะไหลเวียน
วันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมแถลงชี้แจงสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และการแก้ไขปัญหาบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้ส่งผลระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน-+
สถานการณ์คุณภาพอากาศ ในภาพรวมของประเทศไทย ใน 3 วันที่ผ่านมาพบว่า PM2.5 เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น จนในบางพื้นที่อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพและต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ความกดอากาศสูง ความเร็วลมต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง และการยกตัวของอากาศไม่ดี ทำให้อากาศนิ่ง มีผลต่อการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 สูงมากขึ้น
โดยวันที่ 13 ธันวาคม 2563 พบค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 33 - 93 ไมโครกรัม(มคก.)/ลบ.ม.
วันที่ 14 ธันวาคม 2563 พบค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 36 - 87 มคก./ลบ.ม.
และวันที่ 15 ธันวาคม 2563 พบค่า PM2.5 ณ เวลา 10.00 น. อยู่ระหว่าง 36 - 119 มคก./ลบ.ม.
ส่วนใหญ่ PM 2.5 เกินมาตรฐานบริเวณริมถนน ได้แก่ ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน, ริมถนนมาเจริญ เขตหนองแขม, ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ, ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ริมถนนสามเสน เขตพระนคร, ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน, ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน, ริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต, ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน, ริมถนนบางนา ตราด เขตบางนา, แขวงคลองเตย เขตคลองเตย, แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ เป็นต้น รวมทั้ง 4 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี, จ. สมุทรสาคร, จ.ปทุมธานี
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กทม.และจังหวัดปริมณฑล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมไม่ให้มีการเผาวัสดุทางการเกษตร ในที่โล่งในเขตปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 14 – 17 ธันวาคมนี้ และขอให้พี่น้องประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หากจอดรถยนต์ขอความกรุณาดับเครื่องยนต์ และขอให้หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อควันดำ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ไม่ให้ส่งผลระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ทั้งนี้ ศกพ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล จะมีการยกระดับการดำเนินการ และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพ เข้มงวดการตรวจวัดควันดำ ควบคุมและลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ระบุว่า กทม.ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้กว่า 2 เดือนแล้ว โดยแบ่งมาตรการดำเนินการตามระดับความเข้มข้นของค่าฝุ่นละออง สำหรับมาตรการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการที่ได้ทำไปแล้ว อาทิ การควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง การงดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน การเผาในที่โล่ง การล้างถนน การฉีดละอองน้ำ และการเปิดคลินิกมลพิษ
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ยกระดับเพิ่มมากขึ้น กทม.ได้ยกระดับมาตรการเป็นระดับที่ 2 ได้แก่ 1.การบังคับใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน การออกหน่วยสาธารณสุขให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง
2.ในส่วนของกิจกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ อาคาร รถไฟฟ้า หรือการก่อสร้างอื่นที่ทำให้เกิดฝุ่น การถมดิน การขนย้ายอุปกรณ์ จะประสานเจ้าของกิจการให้งดดำเนินการ ยกเว้นการตกแต่งภายในยังคงสามารถทำได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
3.สำหรับสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตร่วมกับโรงเรียนพิจารณาว่าโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และไม่สามารถจัดหาห้องที่มีเครื่องกรองอากาศได้ ให้ดำเนินการปิดเรียนตามความเหมาะสม
โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการการฉีดพ่นน้ำ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีหลายวิธี ได้แก่ การฉีดน้ำเพื่อล้างต้นไม้เพื่อชะล้างฝุ่น PM2.5 ที่เกาะอยู่กับใบไม้ ให้ใบไม้สะอาดเพื่อใช้ดักจับฝุ่นใหม่ต่อไป การฉีดน้ำล้างถนนเพื่อล้างฝุ่น PM10 ลงท่อระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายกลับขึ้นมาในอากาศ การฉีดน้ำบริเวณเขตก่อสร้างเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM10 และไม่ให้แตกตัวเป็น PM2.5 และการฉีดน้ำรอบอาคารสูงเพื่อลดปริมาณฝุ่นรอบๆอาคาร ช่วยให้คนที่อยู่ในอาคารปลอดภัยเนื่องจากฝุ่นในอาคารน้อยลง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจลักษณะของการฉีดน้ำที่จะเกิดประโยชน์ รวมทั้งให้รับทราบถึงการดำเนินการตามมาตรการระยะต่างๆ ซึ่งอาจเข้มข้นขึ้นเพื่อให้คนกรุงเทพอยู่อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพดี
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยสภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจัยต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ เช่น รถยนต์ การก่อสร้าง และการเผาในภาคการเกษตร ในส่วนของสภาพอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในอีก 2-3 วันหลังจากนี้ ความกดอากาศสูงจะเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดลมและสภาพอากาศไหลเวียนดีขึ้น ส่วนของการควบคุมรถยนต์ การก่อสร้าง และการเผา ทุกหน่วยงานได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กทม.และปริมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ