"เฉลิมชัย"เร่งช่วยชาวประมงจากผลกระทบโควิด19ระลอกใหม่ลุยตลาดออนไลน์ออฟไลน์
"เฉลิมชัย"เร่งช่วยชาวประมงจากผลกระทบโควิด19ระลอกใหม่ลุยตลาดออนไลน์ออฟไลน์พร้อมเดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาประมงสร้างความเข้มแข็งทุกมิติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย พร้อมด้วย นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวิทย์ คชสิงห์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมประมง ตัวแทนสมาคมประมง ชาวประมง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยวันนี้ถึงผลประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมง ครั้งที่ 11/2563 ว่าที่ประชุมพิจารณาวาระสำคัญ และวาระเร่งด่วนได้แก่
1. ความร่วมมือในการกระจายสินค้าประมงผ่านช่องทาง Grab Mart ด้วยโครงการตลาดสดคนไทยเพื่อชาวประมง
2. การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขงจากผลกระทบการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง
3. การสำรวจทรัพยากรประมงทะเลลึกในบริเวณทะเลอันดามัน
4. การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าประมงเพื่อบริโภคไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
5. การแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล
6. การจัดทำแผนการส่งเสริมด้านการตลาดปลาสวยงามตลอดสายการผลิต
7.โครงการปรับปรุงการทำประมง (Fishery Improvement Project: FIP) เพื่อเข้าสู่มาตรฐานประมงยั่งยืนสากล
8. โครงการ Fisherman Village Resort
9. โครงการส่งเสริมพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค
10. ความก้าวหน้าการดำเนินงานคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ. ....
11. ความก้าวหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
12. ความก้าวหน้าโครงการนำเรือออกนอกระบบ
13.ร่างแนวทางการพัฒนาประมงพื้นบ้านนั้น ประกอบไปด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 2 ข้อ 7 ด้าน 20 มาตรการ ประกอบด้วย
1. นโยบายบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ ฟื้นฟู ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์
2. นโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ ทั้งชายและหญิง เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ชาวเล และแรงงานประมง
ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะเริ่มดำเนินการทันทีในปี2564เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในทุกมิติ ตามแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่จะเชื่อมโยงไปยังโครงการ Fisherman village resort ตามนโยบายของกระทรวง
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลสรุปการประชุมมีดังนี้
1.การสำรวจทรัพยากรประมงทะเลลึกในบริเวณทะเลอันดามันร่วมภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะดำเนินการสำรวจในบริเวณที่ไม่เคยทำประมงมาก่อน ร่วมกันระหว่างภาครัฐโดยกรมประมง และภาคเอกชน โดยสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการปฏิบัติงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อแหล่งประมงใหม่ของประเทศไทย
2.การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง จากผลกระทบการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง นั้น ขณะนี้กรมประมงได้รวบรวมข้อมูลและส่งเรื่องถึงกระทรวง ก่อนนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การหารือ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหานี้
3.การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าประมงไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรายชื่อสัตว์น้ำจำนวน 23 ชนิด และได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ต่อไป
4.การจัดทำแผนการส่งเสริมด้านการตลาดปลาสวยงามตลอดสายการผลิต ซึ่งขณะนี้แผนงานเสร็จแล้วและและนำเสนอร่างแผนการส่งเสริมด้านการตลาดปลาสวยงามตลอดสายการผลิตให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อพิจารณานำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
5.การแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ทั้งการแก้ไขปัญหาขี้ขาวในกุ้งทะเลที่ได้มีงานวิจัยและแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป โครงการเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง (ลดต้นทุนพลังงาน และปรับปรุงระบบฟาร์ม) โดยได้เสนอโครงการไปยังกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาจัดสรรเงินดำเนินงาน โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งทะเลขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนนำเสนอเข้า คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
5.โครงการปรับปรุงการทำประมง (Fishery Improvement Project: FIP) เพื่อเข้าสู่มาตรฐานประมงยั่งยืนสากล ขณะนี้กรมประมงเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ยื่นเสนอขอรับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ภายในธันวาคม 2563 เพื่อข้อมูลสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้กรมประมงและสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา ร่วมกันระหว่าง ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) สมาคมประมงอวนล้อมจับประเทศไทย ผู้ประกอบการ ชาวประมงที่เกี่ยวข้อง และบริษัท Key Traceability ซึ่งเป็นผู้ประเมินตามมาตรฐาน MSC ผลการสัมมนาเป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ประกอบการและชาวประมงให้การยอมรับ และคาดว่าจะนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวเข้าสู่มาตรฐานประมงยั่งยืนต่อไป
6.โครงการ Fisherman Village Resort โดยขณะนี้มีหมู่บ้านชุมชนชาวประมงชายฝั่ง เพิ่มเติมรวมจำนวน 7 แห่ง 6 จังหวัด ได้แก่ ไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนจังหวัดละ 1 แห่ง จังหวัดกระบี่และพังงา จำนวน 3 แห่ง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยวิถีชุมชน เพื่อต่อยอดให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน บูรณาการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ AIC ในแต่ละพื้นที่
7.โครงการส่งเสริมพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคกำหนด (Kick/off) ณ สถานีบริการน้ำมัน PTT Staion โดยในงานได้เชิญผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer) เช่น บังฮาซันอาหารทะเล และเชฟญี่ปุ่นครัวการบินไทย ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไป
8.ความก้าวหน้าการดำเนินงานคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. .... ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูล และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ. .... ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลงนามในหนังสือนำเรียนรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
9.ความก้าวหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง โดยขณะนี้มีผู้ได้รับอนุมัติโครงการสินเชื่อจำนวน 388 ราย วงเงินกว่า 339 ล้านบาท
10.ความก้าวหน้าโครงการนำเรือออกนอกระบบ ขณะนี้โครงการระยะที่ ๑ (ระยะเร่งด่วน) ได้เสร็จสิ้นแล้ว เข้าสู่การพิจารณาช่วยเหลือในกลุ่มต่อไป
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห่วงใยพี่น้องชาวประมงและได้ฝากให้กรมประมงและทุกภาคีภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาประมงรวมทั้งการรับมือกับปัญหา COVID-19 ที่เกิดการระบาดรอบใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวประมงและภาคอุตสาหกรรมประมงไทยโดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและขอให้คณะกรรมการอนุกรรมการทุกคณะและกรมประมงช่วยกันจำหน่ายสินค้าประมงทั้งตลาดออฟไลน์และออนไลน์โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด