ข่าว

  กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง "บ้านแม่เกิบ" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง "บ้านแม่เกิบ" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

12 ม.ค. 2564

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง "บ้านแม่เกิบ" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นหย่อมบ้านศาลาเท เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ราษฎรเป็นชาวไทยภูเขา เผ่ากระเหรี่ยง

11 ม.ค.64 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีการเผยแพร่ข่าว "ศรีสุวรรณ จ่อบุกพบ รมว.ทส. ถามปมปล่อยผุดหมู่บ้านอมก๋อย​ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า"

โดยนายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า พื้นที่บ้านแม่เกิบ เป็นหย่อมบ้านของบ้านศาลาเท หมู่ที่ 15 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ราษฎรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงมีประชากร 177 คน 41 ครัวเรือน 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ศรีสุวรรณ" กลับลำปมบ้านแม่เกิบ จี้ "วราวุธ"กำหนดพื้นที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับแนวคิด"คนอยู่กับป่า"

โดยหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร มีระยะทาง 240 กม. จากเชียงใหม่ โดยเส้นทางจากอมก๋อยเข้าพื้นที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนาข้าวไร่หมุนเวียน เพื่อบริโภค และรับจ้างทั่วไป ในพื้นที่มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านแม่เกิบ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.เชียงใหม่ มีครู 2 คน และนักเรียน 44 คน ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊าง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร

 

                      กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง \"บ้านแม่เกิบ\" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

 

โดยชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาก่อนการก่อตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูงหน่วยที่ 3 (แม่จ๊าง) หรือหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊างในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2522 และอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านนาเกียน และ บ้านแม่เกิบ อยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 129 กิโลเมตร ห่างจากแนวเขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 85 กิโลเมตร และห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) 30 กิโลเมตร ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) 6 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่นี้กรมป่าไม้ ได้มีการสำรวจพื้นที่ตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ตามแนวทางของมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แล้ว โดยสำรวจและกำหนดเป็นแปลงจะรับรอง จำนวน 72 แปลง