"กรมป่าไม้"สร้างเครือข่ายไฟป่า ช่วยประชาชน ชาวไทยบนที่สูง บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต
จากกรณีการนำเสนอข่าวในประเด็นการช่วยเหลือเยาวชนชาวไทยภูเขาที่อาศัยในพื้นที่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการตั้งข้อสังเกตและกังวลในเรื่องที่พักอาศัยของชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือไม่ ซึ่งกรมป่าไม้ ได้มอบให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่เข้าตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง "บ้านแม่เกิบ" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ กรมป่าไม้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบและได้รับรายงานเบื้องต้นว่า พื้นที่บ้านแม่เกิบ ม.15 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านแยกจากบ้านแม่ฮอง ม.1 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2535 และตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย อยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A อยู่ในเขตจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ โซน C (ป่าอนุรักษ์) มีราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงอาศัยในพื้นที่ 41 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 177 คน โดยหมู่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่บนภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร ซึ่งห่างไกลจาก อ.เมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 240 กม. และต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในการเดินทางเข้าไปในพื้นที่และคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนาข้าวไร่หมุนเวียนเพื่อบริโภค และรับจ้างทั่วไป
โดยกรมป่าไม้ขอชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวที่มีประชาชนชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่นั้นอยู่ในพื้นที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนบ้านแม่เกิบ (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการยืนคำขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแบบ ม.13/1 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการในพื้นที่ กศน.แม่ฟ้าหลวง และเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการจัดตั้งบ้านแม่เกิบว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นบ้านแม่เกิบกับบ้านแม่ฮอง เป็นหมู่บ้านเดียวกันแต่อยู่คนละหย่อมบ้าน โดยเมื่อปี 2558 บ้านแม่ฮองเกิดเหตุไฟไหม้ทั้งหมู่บ้านชาวบ้านจึงอพยพมายังแปลงที่ทำกินหมุนเวียนซึ่งเป็นถิ่นฐานที่ตั้งในปัจจุบัน จากการบอกกล่าวของผู้นำชุมชนซึ่งเป็นความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่จะไม่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดอาเพศ จึงถือได้ว่าไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด
นายกมล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุไฟป่าและพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาป่า โดยกรมป่าไม้ ได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันไฟป่า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อ.อมก๋อย กรมป่าไม้ได้ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ อบต.ในพื้นที่ โดยการสนับสนุนของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะดำเนินการในท้องที่ ต.นาเกียน ต.แม่ตื่น ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 1,092 ครัวเรือน และกรมป่าไม้ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในระหว่างปี 2563 - 2564 และได้มีการแจ้งให้ประชาชนตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่นได้ทราบในโครงการดังกล่าวแล้ว