"ธนาธร" โร่แจงศาลยื่นคัดค้าน คำสั่ง DE ปมโดนสั่งลบคลิป
"ธนาธร" แจงศาลยื่นคัดค้าน DE สั่งลบคลิป ตั้งคำถามวัคซีนพระราชทาน พ่วง ม.112 ยัน เจตนาสุจริตเพื่อส่วนรวม ชี้ เป็นเรื่องของทุกคนในประเทศเพราะเกี่ยวข้องกับการเมืองและทรัพยากรชาติ เมิน 'หมอวรงค์' แจ้งความเอาผิด
4 ก.พ.64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เพื่อฟังการไต่สวนว่าศาลจะมีคำสั่งให้ปิดกั้น-ลบเนื้อหา กรณีไลฟ์การบริหารจัดการวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ได้ส่งตัวแทนเข้าขอให้ศาลลบหรือปิดกั้นเนื้อหาดังกล่าว และนายธนาธร ได้ส่งทนายความยื่นขอคัดค้านไว้แล้ว ดังนั้น ศาลจึงนัดไต่สวนวันนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"อนุทิน"แจงข้อสงสัย "ธนาธร" ปมวัคซีนโควิด-19
นายธนาธร ยืนยันว่า การตรวจสอบการบริหารจัดการเรื่อง วัคซีนโควิด ของรัฐบาล สามารถทำได้ จึงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร ตนไม่ขอก้าวล่วง
ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือผลประโยชน์ของคนหมู่มากล้วนเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ เช่นเดียวกับสถาบันฯก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยดั้งนั้นการพูดถึงโดยสุจริตและหวังดีต่อสังคม ปราศจากความอาฆาตมาดร้ายเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงกระทำ โดยเฉพาะการวิจารณ์รัฐบาลในประเด็นการจัดหาวัคซีนให้คนไทยนั้นตนทำด้วยความประสงค์ดี
ทั้งนี้ ตนมองว่าประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เมื่อเปรียบเทียบกับการปกครองระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญหรือประเทศอื่นที่ยังคงมีระบบกษัตริย์นั้น มาตราดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งยังมีอัตราโทษที่สูงเกินไป จวบกระทั่งตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถให้คำสัญญาที่มอบไว้กับประชาชนได้ ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนโดสของวัคซีน หรือความไม่ชัดเจนของกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรก อีกทั้งเอกสารของทางการที่ระบุชัดเจนถึงความล่าช้าในการจัดหาจนสูญเสียเงินหลักแสนล้าน ซึ่งต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะฉีดวัคซีน 50% ให้คนไทย จนมาเปลี่ยนกลยุทธ์เมื่อไม่นานมานี้
สิ่งที่ตนอยากเห็นคือคำสัญญาที่ชัดเจนจากรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชายขอบหรือคนยากไร้ที่ขาดโอกาสทางสังคม
ส่วนกรณีที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตนในคดีอาญาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีเดียวกันนี้
นายธนาธร มองว่า เป็นเรื่องของกลุ่มไทยภักดี แต่ยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและสุจริตสามารถกระทำได้ ตามหลักสิทธิเสรีภาพและหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ต้องมี free speed พร้อมย้ำถึง ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะบทกำหนดโทษที่สูงเกินไป ดังนั้น ตนและประชาชนจึงเห็นว่า ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรานี้