
ท้องถิ่นพาเที่ยว-ฟื้นชีวิตชุมชนเมืองเก่าน่านจำลองวิถีชีวิต-จัดถนนคนเดิน
กระแสการอนุรักษ์บ้านเรือนโบราณเพื่อคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังส่งผลพลอยได้ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทำให้ชุมชมต่างๆ ที่มีบ้านเรือนโบราณหันมาอนุรักษ์ และคงบรรยากาศย้อนยุคภายในชุมชนของตนมากขึ้น
เช่นเดียวกับชุมชนเมืองโบราณใน จ.น่าน ซึ่ง ว่าที่ ร.ต.สมเดช อภิชยกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ได้เลือกชุมชนบ้านหัวเวียงใต้ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากเป็นชุมชนดั้งเดิมของจังหวัดที่ยังคงมีบ้านไม้เก่าแก่ปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น
ชุมชนแห่งนี้มีความผสมกลมกลืนกันเป็นอย่างดีระหว่างชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ และชาวจีนอพยพที่นำเอาความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้ามาปลูกสร้าง "ศาลเจ้าปึงเถ้ากง" ทั้งยังมี "โบสถ์คริสต์" ที่สร้างขึ้นโดยมิชชันนารีอยู่ใกล้ๆ กันอีกด้วย
ใกล้โบสถ์คริสต์ยังมีอาคารเก่าแก่ทรงยุโรปสีแดง สร้างขึ้นโดย ดร.ฮิวเทเลอร์ และครอบครัว ซึ่งย้ายจาก จ.ลำปาง มาเป็นมิชชันนารีที่ จ.น่าน
ดร.ฮิวเทเลอร์ ยังได้กลับไปชักชวนญาติสนิทมิตรสหายที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาร่วมบริจาคเพื่อสร้างโรงเรียนขึ้นที่นี่ โดยปลูกสร้างเป็นตึกก่ออิฐสีแดง 2 ชั้น ชื่อ "กลินกัลน์"
อาคารแห่งนี้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2450 โดยให้ชื่อว่า "โรงเรียนกลินกัลนอะแคเดมี" เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชาย ปัจจุบันเป็นโรงเรียนนานาชาติแบบคริสเตียนศึกษา เปิดสอนแบบสหศึกษาทั้งชายหญิง
ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งคนในชุมชนยังช่วยคงบรรยากาศแบบโบราณได้เป็นอย่างดี มูลนิธิรักบ้านเก่าเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยสถาปนิก และนักธุรกิจที่มีจุดประสงค์อนุรักษ์ชุมชนที่มีบ้านเรือนเก่าแก่จึงเข้ามาช่วยอนุรักษ์อีกทาง
จุดประสงค์ของมูลนิธิแห่งนี้ คือ การสร้าง "เครือข่ายชุมชนบ้านเก่า" ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีขึ้นแล้วที่ จ.น่าน,แพร่ และ เชียงใหม่
นอกจากนี้ บริเวณถนนสุมนเทวราช ซึ่งมีวัดหัวเวียงใต้เป็นจุดเริ่มต้น จะมีการจัดทำเป็นถนนคนเดินย้อนอดีต "ฮีตฮอยชุมชนมะเก่า" โดยจะให้ตัวแทนของมูลนิธิรักบ้านเก่าเมืองเกียวโตดูรูปแบบว่าสมควรจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างไรให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
สำหรับรูปแบบที่คิดไว้คือ จะให้ชุมชนบ้านโบราณริมถนนสุมนเทวราชตั้งแต่วัดหัวเวียงใต้ทำการอนุรักษ์อย่างครบวงจร โดยให้มีการดำรงวิถีชีวิตเสมือนในอดีต โดยในตอนเช้าจะมีการทำบุญใส่บาตร ส่วนในยามค่ำก็จะจัดให้เป็นถนนคนเดิน
ส่วนการดำเนินโครงการนี้ มูลนิธิรักบ้านเก่าเกียวโตได้แนะนำให้มีการตั้งเป็นมูลนิธิ และหากชุมชนบ้านหัวเวียงใต้ทำได้ ทางมูลนิธิก็พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณ
ดูจากรูปแบบการดำเนินโครงการแล้วนับว่าน่าสนใจ และน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งกับความพยายามดีๆ ที่มุ่งจะอนุรักษ์บ้านเรือน และวิถีชีวิตแบบโบราณให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด ทั้งยังจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดีในอนาคตอีกด้วย