ข่าว

ศาลฎีกายกฟ้อง ชายชุดดำ คดีปะทะแยกคอกวัว 10 เม.ย. 2553

ศาลฎีกายกฟ้อง ชายชุดดำ คดีปะทะแยกคอกวัว 10 เม.ย. 2553

16 ก.พ. 2564

ศาลฎีกายกฟ้องชายชุดดำ คดีปะทะแยกคอกวัว 10 เม.ย. 2553 ชี้พยานเบิกความมีน้ำหนักน้อย ให้ยกประโยชน์ แห่งความสงสัย

16 ก.พ. 64  ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คดีหมายเลขดำ อ.4022/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี ชาวกรุงเทพมหานคร, นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น ชาวจังหวัดเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา ชาวจังหวัดอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย ชาวกรุงเทพมหานคร และนางปุนิกา หรืออร ชูศรี ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33 หรือ ปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 ก.ย. 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5 ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 พิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72,78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 พิพากษายกฟ้อง

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา

โดยวันนี้ ศาลอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ให้นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนจำเลยอื่นไม่ได้ยื่นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาได้บรรยายพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยละเอียด บางส่วนของคำพิพากษาอธิบายถึงบันทึกถ้อยคำให้การ ซึ่งมีลักษณะลอกเลียนกันมาเกือบเหมือนกันทุกถ้อยคำ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งบรรยายถึงพยานโจทก์ที่ระบุเห็นผู้ตะโกนด่าพยานจากรถตู้เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งปกติความสามารถในการจดจำบุคคลจะลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่พยานเบิกความในคดีไต่สวนการตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ พยานกลับจำตำหนิรูปพรรณของชายบนรถตู้ไม่ได้ ต่างกับที่เบิกความว่าเป็นจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน้อย

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีความสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้ศาลอาญาออกหมายปล่อย.