ข่าว

'นายกฯ' ย้ำ เรื่องการระงับสัมปทาน'เหมืองแร่อัครา'เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม

'นายกฯ' ย้ำ เรื่องการระงับสัมปทาน'เหมืองแร่อัครา'เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม

17 ก.พ. 2564

นายกฯ เน้นย้ำเรื่องการระงับสัมปทานเหมืองแร่อัครา เป็นไปเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (17 ก.พ.64) เวลา 10.10 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กรณีระงับสัมปทานเหมืองแร่อัครา ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้อพิพาทนี้เริ่มต้นที่บริษัทแม่ในต่างประเทศและใช้ช่องทางตามกฎหมายระหว่างประเทศในการฟ้องร้องรัฐบาลไทย เพราะเห็นว่าบริษัทลูกในประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งรัฐบาลไทยก็ดำเนินการต่อสู้ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน อาทิ เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการใช้พื้นที่ ที่ผ่านมานั้นเป็นการต่อสู้ตามกติกาของกฎหมายสากลซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องแต่งตั้งทนายขึ้นมาต่อสู้ในเวทีสากลให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการต่อสู้คดี และก็ต้องมีงบประมาณที่ใช้ในการจ้างทนายที่ปรึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศเพราะเป็นเวทีระหว่างประเทศที่เป็นพันธะสัญญาระหว่างกันที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งคือการนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ สิ่งสำคัญที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดีก็คือ การนำเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลหรืออนุญาโตตุลาการนำมาพูดภายนอก และฝ่ายค้านได้นำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ซึ่งผลปรากฏว่าการอภิปรายและการให้ข่าวเป็นการคาดการณ์เอาเองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลขกับข้อมูลที่เป็นข้อเสนอหรือคำให้การของแต่ละฝ่ายซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการและยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายรวมทั้งขั้นตอนของการเจรจาหารือกันของคู่พิพาทก็เป็นไปตามที่อนุญาโตตุลาการแนะนำ ไม่สามารถที่จะไปชี้นำได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯ' แจงที่มาของหนี้สาธารณะ ยืนยันการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเป็นไปอย่างรอบคอบ

 

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นายกรัฐมนตรียืนยันว่าคำสั่งมาตรา 44 นั้นไม่ใช่การปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องของการระงับการต่อสัมปทาน ซึ่งมีคำสั่งไปถึงเหมืองทุกประเภทในประเทศไทย ในการต่ออาชญาบัตรทำเหมืองแร่ จนกว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากข้อเรียกร้องหรือข้อสงสัยที่ประชาชนเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจนแต่ก็มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู และประชาชนบริเวณดังกล่าว ว่ามีผลกระทบจากสารพิษ ซึ่งก็จำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเกิดขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ปิดเหมืองอัคราแต่เพียงแห่งเดียว การต่ออาชญาบัตรให้สัมปทานจำเป็นต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว และบริษัทใดที่เข้ามาแก้ปัญหาได้ตามนั้น ก็สามารถเปิดได้ตามปกติ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของชาติประโยชน์ ของประชาชน ขณะนี้ได้มีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ออกมาแล้ว ทำให้สามารถผลิตและถลุงแร่ได้เอง รวมทั้งสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าในการมูลค่าให้กับประเทศในเรื่องของจัดเก็บภาษีต่าง ๆ มากขึ้น และถ้าเป็นไปได้หากมีการสำรวจพบแร่ ไทยก็จะเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตแร่ทองคำกฎหมายใหม่นี้สามารถทำให้เกิดการถลุงแร่ต่าง ๆ นอกเหนือจากแร่ทองคำ ในประเทศไทยได้

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาหลายอย่างต้องแก้ปัญหาทางต้นทาง กลางทาง และปลายทางทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ประเทศชาติได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำ กรณีการขอสำรวจแร่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น แต่ในการขอดำเนินการก็ต้องมีการพิจารณาอนุญาต ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้นำหลักการในเรื่องของสิทธิในการประกอบการธุรกิจมาพิจารณาร่วมด้วย มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และประชาชน ตามหลักการ เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา ขณะนี้บริษัทเริ่มมีการปรับเปลี่ยน พื้นที่ใดที่ประชาชนไม่ต้องการให้เกิดการทำเหมืองแร่ ก็มีการหลีกเลี่ยงการทำเหมืองแร่ จึงขอให้คำนึงถึงว่า จะสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าได้อย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันคุ้มค่าหรือไม่ และจะแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไรในการทำงานทั้งระบบ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบในฐานะเป็นนายกมนตรี และไม่ได้แก้ปัญหาด้วยด้วยอำนาจหรือคำสั่ง มีการหารือปรึกษาจากฝ่ายกฎหมายและฝ่ายราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยราชการ จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างเดินทางไปสู่ความเรียบร้อยให้ได้โดยเร็วโดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชน