เปิดรับสมัครทุน"เรียนฟรี" ทายาทสหกรณ์ หวังสานต่ออาชีพพระราชทาน "เลี้ยงโคนม" และด้านการเกษตร
เปิดรับสมัครทุน"เรียนฟรี" ทายาทสหกรณ์ หวังสานต่ออาชีพพระราชทาน "เลี้ยงโคนม" และด้านการเกษตร
“ต้องปลูกฝังลูกหลานสมาชิกให้รักอาชีพการเลี้ยงโคนม มีผู้สืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนม และมีการอบรมส่งเสริมให้ความรู้ในการเลี้ยงโคนม”
พระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตรัสแก่ผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าเนื่องจากปัจจุบันพบว่าเกษตรกรเลี้ยงโคนมส่วนใหญ่เป็น สูงวัย มีอายุเฉลี่ย 55-65 ปี และมีความต้องการอยากให้ลูกหลานสานต่ออาชีพ ขณะเดียวกันในส่วนของสหกรณ์โคนมก็ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาส่งเสริมฟาร์มโคนมสมาชิก
ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตระหนักการสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนม จำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์โคนมมาต่อยอดอาชีพพระราชทาน จึงได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาสานต่อแนวพระราชดำริ
โดยได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆในการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาสัตวแพทยศาสตร์ สัตวศาสตร์ แก่ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560
และที่สำคัญปีการศึกษา 2564 ได้ขยายโครงการความร่วมมือกับสถานศึกษาเพิ่มเติม ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรอีกด้วย ซึ่งทุนการศึกษาดังกล่าวได้มาจากการจัดสรรดอกผลเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 23.187 ล้านบาท มาเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ ทั้ง 2 โครงการ จนจบการศึกษา
ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ทำความร่วมมือเปิดสอนในวิชาดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลศรีวิชัย และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
ปัจจุบันมีทายาทสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมได้รับการทุนการศึกษาแล้วจำนวน 10 ทุน แบ่งเป็นปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ทุน และปีการศึกษา 2563 จำนวน 9 ทุน รวมเงินทุนการศึกษาทั้งสิ้น 2.519 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564 นอกจากทุนการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์และสัตวศาสตร์แล้ว จะมีการเพิ่มสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรด้วย โดยเป็นความร่วมมือกับสถานศึกษาตามโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร
ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี สาขาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เรียน 4 ปี มีจำนวน 10 ทุนต่อปี และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร และสถานศึกษาประเภทเกษตรกรรมและประมง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แบ่งเป็น ระดับ ปวส. เรียน 2 ปี มีจำนวน 50 ทุนต่อปี และระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) เรียน 2 ปี จำนวน 20 ทุนต่อปี
น.ส.อัญธิกา นาคนารี นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนการศึกษาเป็นคนแรกของโครงการ เผยถึงความรู้สึกในการได้รับทุนฯ ว่ารู้สึกดีใจมากเมื่อรู้ว่าผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะที่ตนเองใฝ่ฝัน เนื่องจากมีความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังได้ศึกษาข้อมูลมาก่อนหน้านี้
“ตอนนี้อยู่ปี 2 แล้วค่ะ ตั้งใจอยากจะนำความรู้ไปดูแลฟาร์มโคนมที่บ้าน” นักศึกษาสัตวแพทย์คนเดิมเผย โดย น.ส.อัญธิกา นาคนารี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เนื่องครอบครัวเธอเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมที่นี่ ปัจจุบันมีโคนมอยู่ในความดูแลจำนวน 20 ตัว ซึ่งที่ผ่านมาเธอบอกว่าไม่ค่อยมีโอกาสช่วยดูแลกิจการโคนมของครอบครัวมากนัก เนื่องจากยังขาดความรู้เกี่ยวกับการดูแลโคนม จึงได้แค่ช่วยทำความสะอาดฟาร์ม
“ ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่ ก็คือเข้าไปช่วยทำความสะอาดฟาร์มเป็นหลัก ไม่ค่อยช่วยเรื่องรีดนมเท่าไหร่” น.ส.อัญธิกา กล่าวยอมรับและระบุว่าหากจบมาก็จะหางานทำควบคู่ไปกับการพัฒนาฟาร์มโคนมของครอบครัวด้วย โดยสิ่งที่อยากพัฒนาได้แก่ การปรับปรุงเรื่องสายพันธุ์ เรื่องอาหารและการผสมเทียม ซึ่งปัจจุบันโคนมส่วนใหญ่เป็นลูกผสมมีไขมันนมค่อนข้างน้อย จึงอยากจะพัฒนาตรงนี้
ความรู้สึกนี้ไม่ต่างกันกับ น.ส.ปริสปา วิจารา คณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้ส่งคัดเลือกเข้ารับทุนเรียนต่อ น.ส.ปริสปา เป็นบุตรสาวคนที่สองของครอบครัว ”วิจารา”เจ้าของฟาร์มโคนม ใน ต.หนองหญ้าเสือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ปัจจุบันมีโคนมอยู่ในความดูแลจำนวนกว่า 40 ตัว
“ที่บ้านทำฟาร์มโคนม แถวบ้านยึดอาชีพนี้เป็นหลักค่ะ หนูชอบเพราะพ่อทำงานปศุสัตว์ที่ อ.มวกเหล็ก เห็นวัวนมมา ตั้งแต่เด็ก คิดว่าโตขึ้นก็อยากเรียนสัตวแพทย์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องเพราะอยากมาดูแลฟาร์มโคนมที่บ้านด้วย”
น.ส.ปริสปา บอกว่าเธอมีพี่น้องสองคน พี่ชายจบสัตวบาลจาก ม.แม่โจ้ ปัจจุบันช่วยครอบครัวทำฟาร์มโคนม ส่วนเธอก็ตั้งใจว่าหลังจบการศึกษาสัตวแพทย์แล้วก็จะกลับมาช่วยดูแลฟาร์มโคนมของครอบครัวเช่นกัน
“ตอนนี้อยู่ปี 1ยังเรียนรวม ปีหน้าเขาก็จะให้เลือกระหว่างสัตว์เล็ก หมาแมวและปศุสัตว์ หนูจะเลือกปศุสัตว์ค่ะ เพราะจะได้กลับไปทำงานที่บ้านหลังเรียนจบ” นิสิตสัตวแพทย์จุฬาฯ ตั้งความหวังหลังเรียนจบ โดยมองการเลี้ยงโคนม ในปัจจุบันว่ายังมีปัญหาเรื่องอาหารโค อยากพัฒนาสูตรอาหารเพื่อการให้น้ำนมต่อตัวมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเต้านมอักเสบ โคไม่กินอาหาร ป่วยง่าย อยากจะใช้ความรู้การจัดการคุณภาพโคและฟาร์มให้ดียิ่ง
“ทุนให้แค่ค่าเทอมอย่างเดียว เทอมละ 3.4 หมื่นบาท ค่ากินอยู่ออกเอง ดีสำหรับครอบครัวหนูด้วย เพราะค่าเทอมค่อนข้างสูง ช่วยผ่อนเบาพ่อแม่ได้ ค่ากินอยู่หนูว่าไม่ได้อะไรมาก ” น.ส.ปริสปา กล่าวอย่างภูมิใจ
ปัจจุบัน เปิดรับสมัครผู้ขอรับทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 มี.ค.64 สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โทร.0 2669 4577 สนง.สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสหกรณ์โคนม และสหกรณ์การเกษตร ใกล้บ้านทุกวันในเวลาราชการ
น.ส.ปริสปา วิจารา นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนเเรียนฟรีกรมส่งเสริมสหกรณ์