รวบคู่หู 'นิว-นัท' เปิดเพจลวงนักเลงพระเครื่อง แกงเปื่อยกว่า 10 ราย
กองปราบรวบ 2 คนร้าย เปิดเพจหลอกขาย 'หลวงพ่อเงิน' ตั้งราคาถูกว่า 10 เท่า ประวัติฉ้อโกงเหยื่อนับสิบ เงินหมุนเวียนครึ่งล้าน
วันที่ 4 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา สว.กก.4 บก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.ท.ภัทรพันธ์ พูลทวี สว.กก.4 บก.ป. แถลงการจับกุม ผู้ต้องหา 2 ราย หลอกขายพระเครื่อง-วัตถุมงคล ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย
รายแรก นายวธัญญู (สงวนนามสกุล) หรือ นิว อายุ 33 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ในห้อหา "ฉ้อโกง - นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์" และอีกรายคือ นายภคพล (สงวนนามสกุล) หรือนัท อายุ 29 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลจังหวัดนครสวรรค์ ในข้อหา "ฉ้อโกง" พร้อมของกลางสมุดบัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม พระเครื่อง วัตถุมงคล ใบรับรองจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และยาไอซ์อีก 0.61 กรัม
พ.ต.ท.ภัทรพันธ์ กล่าวว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย เปิดเพจเฟซบุ๊คปลอมเพื่อหลอกขายพระเครื่อง-วัตถุมงคล โดยการนำภาพพระเครื่องแท้ ที่อยู่ในโลกออนไลน์มาประกอบภาพการขายในเฟซบุ๊ค พร้อมเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยใบรับรองพระเครื่องแท้จากสมาคมนิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่นำมาแอบอ้าง จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อ ติดต่อเข้ามาขอเช่าพระเครื่อง 'หลวงพ่อเงิน' ตกลงราคากันที่ 20,000 บาทแล้วโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ แต่กลับพบความจริงว่า พระเครื่องที่เช่ามากลับไม่ตรงตามในภาพที่ใช้ประกอบการซื้อขาย จึงเข้าแจ้งความ
จากนั้น การสืบสวนของตำรวจกองปราบ ทำให้ทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 แยกย้ายหลบหนีในพื้นที่กรุงเทพฯ - นนทบุรี จึงออกติดตามจนสามารถจับกุม นายวธัญญู ได้ที่จ.นนทบุรี และจับกุมนายภคพล ได้ที่ห้องพักย่านดินแดง กทม. พร้อมของกลางทั้งหมด
ทั้งนี้ นายวธัญญู ยังคงให้การปฎิเสธ ว่า ถูกนายภคพลยืมบัตรประชาชน เอทีเอ็ม และสมุดธนาคารของตนเองไปหลอกคนอื่น โดยที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนนายภคพล ให้การรับสารภาพว่า ตนได้ร่วมกับนายวธัญญู เปิดเพจหลอกขายพระเครื่อง และเมื่อส่งพระเครื่องของปลอมไปให้แล้วก็จะเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊คและเลขบัญชีใหม่ หลอกขายให้เหยื่อรายอื่นต่อไป โดยพระเครื่องที่นำมาหลอกขาย ซื้อมาจากตลาดท่าพระจันทร์ ในราคา 1,500-2,000 บาท
ขณะที่การตรวจสอบของตำรวจพบ ผู้เสียหาย 15 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 307,500 บาท บัญชีของนายวธัญญู ตั้งแต่ช่วง พฤษภาคม-ตุลาคม 2564 มีเงินหมุนเวียน 576,000บาท ส่วนใบรับรองพระเครื่องแท้จากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ ถูกส่งไปให้สมาคมตรวจสอบ
ด้านนายวัธนชัย มุตตามระ ที่ปรึกษาสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน พระเครื่องถูกนำมาหลอกขายกันเป็นจำนวนมาก ราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักล้าน บางเพจตั้งราคาถูกกว่าของจริง 10 เท่า หรือแม้แต่บางเพจตั้งราคาใกล้เคียงของจริงก็ยังถูกหลอก เช่น หลวงพ่อเงินที่หลอกขายในครั้งนี้ ราคาจริงขายเป็นแสน แต่ราคาขายในเพจเพียงหลักหมื่น จึงอยากฝากเตือนผู้เช่าพระเครื่อง ควรตรวจสอบประวัติผู้ขาย ยิ่งคนที่เช่าพระในราคาถูก ควรไปเจอกันและพูดคุยกันก่อนที่จะซื้อขาย
"ผู้ขายบางคนใช้กลวิธี ทำทีไม่รู้ราคาสินค้า จะพระแพงเอามาปล่อยเช่าในราคาถูก ทางผู้ที่เช่าพระก็คิดว่า ได้ราคาถูกเหมือนถูกหวย ที่ไหนได้ถูกหลอก"
ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการตรวจสอบใบรับร้องพระแท้ ที่ทางสมาคมฯเป็นผู้ออกก็สามารถจดเลขประจำพระเครื่องที่อยู่ใต้รูปพระเครื่องในใบรับร้องไปค้นหา ตรวจสอบได้ในเว็บไซค์ของทางสมาคมฯได้ เพื่อป้องกันถูกหลอกขายพระเครื่อง