How to ม็อบ สิทธิและเสรีภาพทำได้ วิธีแจ้งชุมนุมอย่างไรให้ถูกกฎหมาย
ม็อบ ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ทำได้ แต่จะให้ถูกกฎหมายต้องทำอย่างไร How to วิธีแจ้งชุมนุมสาธารณะตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
“ม็อบ” หรือเรียกแบบทางการว่า “การชุมนุมสาธารณะ” ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนทำได้ และมีกฎหมายรองรับ นั่นคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยการจัดการชุมนุมจะต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้รับแจ้ง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
How to วิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
1. ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ
2. ให้แจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
3. ให้แจ้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง หรือ แจ้งทางโทรสาร หรือ แจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งแล้ว จะตรวจสอบความถูกต้องแล้วส่งสรุปสาระสำคัญให้ผู้แจ้งทราบภายใน 24 ชั่วโมง และอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมได้ แต่หากมีคำสั่งห้ามชุมนุม ผู้แจ้งสามารถอุทธรณ์ได้
ถ้าผู้แจ้งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันเวลา ก็สามารถขอผ่อนผันก่อนเริ่มการชุมนุม โดยยื่นคำขอผ่อนผันและแบบแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาลกรณีชุมนุมใน กทม. หรือต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกรณีชุมนุมในจังหวัดอื่น
วิธีแจ้งจะต้องแจ้งเป็นหนังสือโดยตรงต่อผู้บังคับการตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่เท่านั้น ไม่สามารถยื่นขอผ่อนผันทางโทรสารหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ และหากมีคำสั่งห้ามชุมนุม ผู้แจ้งก็สามารถอุทธรณ์ได้เช่นกัน
สุดท้ายถ้าผู้ที่ประสงค์จัดการชุมนุมไม่แจ้งจัดการชุมนุม ให้ถือว่าเป็น ม็อบ - การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อ่านข่าว - ความจริง แอมมี่ The Bottom Blues โดน 218 หนักกว่า 112 โทษถึงประหารชีวิต
ที่มา : พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคู่มือการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
CR : ไทยคู่ฟ้า