"วันไตโลก" รณรงค์คนไทยลดกินเค็ม หลังพบผู้ป่วยโรคไตทะลุ 8 ล้าน
คำขวัญวันไตโลกปีนี้ "ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว" รณรงค์คนไทยลดเค็ม หลังพบผู้ป่วยโรคไตทะลุ 8 ล้านคน
วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น "วันไตโลก" (World Kidney Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก
หลายหน่วยงานจัดสัปดาห์รณรงค์ลดการบริโภคเค็มสากล ให้เห็นความสำคัญของวันไตโลก ดังคำขวัญในปีนี้ "ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับ ใจและปรับตัว" รณรงค์คนไทย ลดการบริโภคอาหารเค็ม รสจัด หลังพบอัตราผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทะลุ 8 ล้านคน และทำให้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11.5 ล้านคน
จากผลงานวิจัยล่าสุดในปี 2564 ซึ่งได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hyper tension โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตีแผ่พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้ , ภาคกลาง , ภาคเหนือ , กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา) ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
เพราะ "ไต" มีหน้าที่ขจัดของเสีย รักษาสมดุลน้ำในร่างกาย และควบคุมความดันโลหิต ปัจจุบันโรคไตถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติ เมื่อพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังการเป็นโรคไตร่วมด้วยเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ควรปรับพฤติกรรมลดการกินเค็มให้น้อยที่สุด และหันมาเน้นอาหารรสจืด โดยมีวิธีที่จะดูแลไตไม่ให้เสื่อมไวคือ "งดเค็ม งดดื่มเหล้าสุรา ดื่มน้ำสะอาด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ"
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการทำวิจัยร่วมกันต่อ
ข้อมูลจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม