ปลอดภัย ปลอดเชื้อกับรังสียูวีซี ของต้องมีในวิถี New Normal
มหัศจรรย์แสงสีฟ้า อุปกรณ์ยูวีซี (UV-C) พิสูจน์แล้วฆ่าเชื้อโรคได้ 99.99% แต่เสี่ยงมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก อาจารย์จุฬาฯ เตือน ใช้อย่างเข้าใจและระมัดระวัง
มนุษย์รู้จักใช้แสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ฆ่าเชื้อโรคมานานนับศตวรรษเนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุสิ่งของที่ใช้สำหรับการอาบรังสี ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ได้ตกทอดมายังโลกสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ขยายผลโดยนำรังสียูวีชนิดซี (UV-C) ซึ่งให้พลังงานสูงไปใช้ในงานสาธารณสุข กำจัดเชื้อแบคทีเรีย สำเร็จแล้วในการระงับการระบาดหนักของเชื้อซาร์สและเมอร์สในอดีต
และล่าสุด ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 วิถีชีวิตยุค “นิว นอร์มอล” ที่ต้องใส่ใจสุขอนามัยและโรคติดเชื้อทำให้รังสียูวีซีกลายเป็นของสำคัญและอาจจะจำเป็นมากขึ้นในอนาคต มีการผลิตอุปกรณ์รังสียูวีซีออกมาใช้ในระดับครัวเรือนและพกพา ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้ฆ่าเชื้อโรคในอากาศ น้ำ อาหาร เงินเหรียญและธนบัตร รวมถึงหน้ากากอนามัย ฯลฯ เรื่องนี้ อาจารย์ ดร.ฐิติทิพย์ ทิพยมนตรี ภาควิชารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ความรู้และเตือนถึงการใช้ประโยชน์จากรังสียูวีซีด้วยความระมัดระวัง
รังสียูวีซีในวิถีชีวิตปัจจุบัน
จริงๆ อุปกรณ์รังสียูวีซีมีใช้อยู่ในโรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อนแล้ว เพื่อฆ่าเชื้อในอาหารและในระบบอากาศ และในช่วงหลังๆ ก็มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นเคย แต่อาจไม่รู้ เช่น อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคช้อนส้อมตามโรงอาหาร เครื่องสเตอริไลสธนบัตร เป็นต้น แต่พอมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคกลายเป็นที่ต้องการของทุกคน จึงมีการผลิตอุปกรณ์รังสียูวีซีมากขึ้นและย่อสเกลมาเป็นระดับครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ อย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านในรูปแบบของตู้อบแห้งฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจนำไปใช้ในบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีหลอดไฟรังสียูวีซีแบบพกพาติดตัว ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในอากาศ อาหาร ธนบัตร และเครื่องใช้อื่นๆ
รังสียูวีซีที่เราใช้กันอยู่มาจากไหน
รังสียูวี (UV) มีหลายชนิด ทั้งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและที่มองไม่เห็น หลากหลายเฉดตามความเข้มข้นของแสงโดยมีชื่อเรียกต่างกัน ยูวีเอ (UVA) เป็นความยาวคลื่น 315–400 นาโนมิเตอร์ เป็นชนิดที่แผ่ปกคลุมผิวโลกมากที่สุด รังสียูวีบี (UVB) ความยาวคลื่น 280–315 นาโนมิเตอร์ ส่วนรังสียูวีซี (UVC) เป็นคลื่นสั้น ความยาวคลื่น 100–280 นาโนมิเตอร์ ให้พลังงานมากที่สุดและสามารถทำลายล้างอนุภาคได้รุนแรง สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ถึง 99.99% รังสีชนิดนี้ไม่อาจผ่านลงมาถึงชั้นผิวโลกได้เพราะถูกชั้นบรรยากาศกรองกลืนหายไปในชั้นโอโซนเสียก่อน
ดังนั้น รังสียูวีซีที่เราใช้ฆ่าเชื้อโรคกันอยู่เป็นแสงสังเคราะห์หรือแสงเลียนแบบธรรมชาติ ผ่านหลอดไฟชนิดพิเศษที่เรียกว่า “หลอด UV” ซึ่งหลายคนคุ้นเคยกันในรูปลักษณ์ของหลอดไฟสีฟ้า
ประสิทธิภาพของอุปกรณ์รังสียูวีซี
ด้วยกระบวนการฆ่าเชื้อที่เรียกว่า “UVGI” (Ultraviolet Germicidal Irradiation) อุปกรณ์หลอดไฟสีฟ้าจะฉายรังสียูวีซีให้ตกกระทบบนวัตถุที่คาดว่าจะมีเชื้อโรค พลังงานของรังสีจะเข้าไปทะลุทะลวงถึงระดับ DNA และ RNA ของตัวเชื้อ ทำให้เชื้อถูกทำลาย ขยายจำนวนไม่ได้ และตายในที่สุด
ข้อดีของอุปกรณ์ยูวีซีกับวิธีการฆ่าเชื้อแบบอื่นๆ
ข้อดีของการใช้รังสีในการฆ่าเชื้อคือใช้เวลาไม่นาน ใช้ได้บ่อยตามความต้องการ ราคาไม่แพง ใช้งานง่าย และไม่ทำลายพื้นผิววัตถุ ไม่ทิ้งสารตกค้าง ดีกว่าการใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ เวลาใช้ฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย ก็ไม่ทำลายเส้นใย เหมาะสำหรับการใช้ฆ่าเชื้อในสิ่งทีเราต้องการใช้ซ้ำ (re-use)
ข้อควรระวังในการใช้อุปกรณ์รังสีฆ่าเชื้อโรค
เนื่องจากรังสีชนิดนี้ปลดปล่อยพลังงานทำลายล้างค่อนข้างสูง การนำมาใช้งานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรให้รังสีโดนผิวหนังเพราะอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และไม่ควรจ้องมองรังสีเพราะจะเป็นอันตรายต่อเลนส์ตา ทำให้เป็นต้อกระจกได้ ผู้ใช้อุปกรณ์ UVGI ต้องป้องกันตัวตามหลักป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างถูกต้อง
ส่วนอุปกรณ์ UVGI แบบพกพา ยังไม่แนะนำ เพราะการใช้งานอุปกรณ์นี้ควรอยู่ในที่มิดชิด ไม่เช่นนั้นอาจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ในอนาคตน่าจะมีการพัฒนาออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ใช้เพื่อการพกพา
ที่ใดบ้างที่ควรติดตั้งอุปกรณ์รังสียูวีซี
พื้นที่ที่ควรมีอุปกรณ์นี้ ได้แก่ สถานที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากหรืออยู่เป็นเวลานาน เช่น โรงพยาบาล ห้องเรียน โรงภาพยนตร์ หอประชุม รถไฟฟ้า ห้องน้ำสาธารณะ สำนักงาน พื้นที่ที่เก็บอาหารและเครื่องดื่ม โดยติดตั้งหลอดไฟยูวีซีในท่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ท่อปรับสภาพอากาศ เป็นต้น
หลักการเลือกและใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมและปลอดภัย
รังสียูวีซี คือพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาเหมือนตู้อบ ถ้าจะนำมาใช้ในห้อง ต้องดูที่ขนาดของห้อง ความกว้าง ความใหญ่ เพื่อจะได้เลือกความแรงของวัตต์ให้เหมาะสม ลักษณะของห้องต้องโล่ง เพราะประสิทธิภาพการทำลายล้างที่ดี รังสีต้องวิ่งเข้าไปถึงพื้นที่นั้นๆ ถ้าหากมีสิ่งของหรือมุมก็จะบดบังการเข้าถึงของรังสีก็จะทำให้การฆ่าเชื้อโรคตรงนั้นไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องเลือกยี่ห้อที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานสินค้า เช่น CE ROHS ว่าสามารถกำจัดเชื้อโรคบนพื้นผิวได้ถึง 99.9 %
ข้อมูล : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย