"สุรเชษฐ์ หักพาล" ฝ่าทุกด่านนั่ง "ที่ปรึกษา สบ.9"
ลุ้นกันมาหลายวาระ กับการประชุม ก.ตร. ในที่สุดวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน ก.ตร. นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ไฟเขียววาระสำคัญแต่งตั้ง "บิ๊กโจ๊ก" ฝ่าทุกด่านกลับมาผงาด กรมปทุมวัน ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. และผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. ปูนบำเหน็จก่อนเกษียณ
การประชุม ก.ตร.วันนี้ ตำแหน่งที่ถูกจับตามากที่สุด คือ การแต่งตั้ง "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ที่โอนย้ายจากสำนักนายกรัฐมนตรี กลับมารับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง โดยกำหนดตำแหน่ง "ที่ปรึกษา สบ.9" ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดตำแหน่งเฉพาะตัวที่ขออนุมัติ ก.ตร. โดยพลเอกประยุทธ์ ให้เหตุผลเรื่องความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ตำรวจ และการปฎิรูปตำรวจ จึงต้องเปิดตำแหน่งนี้ขึ้นมา
ส่วนจะได้รับมอบหมายหน้าที่ใดนั้น พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ยังไม่ได้มอบหมายหน้าที่ใด แต่เป็นการกำหนดหน้าที่เอาไว้ก่อน
นอกจากวาระการแต่งตั้ง "บิ๊กโจ๊ก" แล้ว ยังมีการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจ ยศ "พลตำรวจตรี" ขึ้นไปอีก 3 กลุ่ม คือ ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ยศพลตำรวจเอก เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. ยศพลตำรวจโท เทียบเท่าผู้บัญชาการ / และตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. ยศพลตำรวจตรี เทียบเท่าผู้บังคับการ
โดยเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ "ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ยศพลตำรวจเอก" นั้น จะแต่งตั้งจากผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ในตำแหน่งมาครบ 1 ปี และจะเกษียณอายุราชการในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือสิ้นปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7 ตำแหน่ง
ในขณะที่ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. ยศพลตำรวจโท เทียบเท่าผู้บัญชาการ จะแต่งตั้งจากรองผู้บัญชาการ ยศพลตำรวจตรี ที่อยู่ในตำแหน่งครบ 1 ปี และจะเกษียณอายุในสิ้นปี 2564 จำนวน 16 ตำแหน่ง
และตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. ยศพลตำรวจตรี เทียบเท่าผู้บังคับการ จะแต่งตั้งจากรองผู้บังคับการยศ พันตำรวจเอก ที่ครองตำแหน่งครบ 5 ปี และจะเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จำนวน 30 ตำแหน่ง (พูดง่ายๆ คือปูนบำเหน็จเพิ่มยศให้ก่อนเกษียณ)
เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติที่ระบุไว้ รายชื่อที่ผ่านการพิจารณาในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. มีด้วยกัน 7 คนคือ
1. พล.ต.ท.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.
2. พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.
3. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.
4. พล.ต.ท.อดิศร์ งามจิตสุขศรี รองจเรตำรวจแห่งชาติ
5. พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.
6. พล.ต.ท.กิตติพงษ์ เงามุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.
7. พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผู้ช่วยผบ.ตร.
แต่เนื่องจาก พล.ต.ท.กิตติพงษ์ และ พล.ต.ท.สุรพล ครองตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.ไม่ครบ 1 ปี จึงต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอยกเว้นหลักเกณฑ์ต่อไป
สำหรับการแต่งตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. จะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
รายชื่อนายพลที่ติดโผ "ที่ปรึกษาพิเศษตร." มีอยู่เพียงไม่กี่ชื่อที่สะดุดตา หนึ่งในนั้นคือ พลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ในประเด็นที่รองอัยการสูงสุดมีสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง "บอส" วรยุทธ อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจตาย ทำให้ "บอสรอดทุกข้อหา" โดย พลตำรวจโท เพิ่มพูน เป็นผู้ที่ลงนามแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ทำความเห็นแย้งอัยการ ทำให้คดีถึงที่สุด
เป็นที่รู้กันดีในวงการสีกากีว่า การพิจารณาแต่งตั้งในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษตร. ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษตร.นั้น ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นตำแหน่ง "นายพลแก้มลิง-นายพลตู้ปลา"
โดยตำแหน่ง "นายพลแก้มลิง-นายพลตู้ปลา" นั้นถือว่าเป็นการเปิดตำแหน่งเพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้กับนายพลที่ใกล้เกษียณ เป็นการขยับเพิ่มยศในช่วงปีสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ แต่ไม่ได้เพิ่มอัตราเงินเดือน
คำว่า "แก้มลิง" มี 2 นัยยะ คือเป็นพื้นที่พักน้ำเพื่อรอการระบาย หรือพักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้เป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า แต่สำหรับ "นายพลแก้มลิง" นั้น ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นการพักงาน พักร่างกายเพื่อที่จะรอการเกษียณในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยได้สิ่งตอบแทนคือการเลื่อนยศ
ส่วน "นายพลตู้ปลา" เปรียบเสมือนชีวิตราชการที่เหลืออีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บทบาทหน้าที่ในงานประจำที่เคยรับผิดชอบก็ลดน้อยลง ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ค่อยเห็นค่า จนต้องใช้เวลาที่เหลือไปกับการเลี้ยงปลา ให้อาหารปลา นั่งเฝ้ามองดูการเจริญเติบโตของปลาสวยงามว่ายไปว่ายมาในตู้ปลากลางห้องทำงาน
แนวคิดการตั้ง "นายพลแก้มลิง - นายพลตู้ปลา" คล้ายคลึงกับในกองทัพที่มีตำแหน่ง "ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ" และ "ผู้ชำนาญการณ์พิเศษ" จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "นายพลว่างงาน" ซึ่งหมายถึงนายพลที่ไม่ได้ขึ้นตำแหน่งหลัก แต่ได้รับการเลื่อนยศ บ้างก็ถูกส่งไปพักเพื่อรอขึ้นตำแหน่งหลัก บ้างก็ถูกส่งไปพักเพื่อพักยาวไปเลย ในกองทัพเรียก "ผู้ทรงฯ" กับ "ผู้ชำนาญฯ" เป็นที่รู้กันดีว่าไม่ค่อยมีงาน ปัจจุบันหลายคนถูกโยกเข้าแท่งงาน กอ.รมน. เพื่อจะได้นั่งประชุมเคาะสนิมบ้างก็มไม่น้อยเหมือนกัน