ครม.ปลดล็อกซอฟต์โลนแบงก์ชาติ-มาตรการ Asset Warehousing วงเงินรวม 3.5 แสนลบ.
ครม.ปลดล็อกซอฟต์โลนแบงก์ชาติ-มาตรการ Asset Warehousing วงเงินรวม 3.5 แสนลบ.
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน ครม. อนุมัติ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ "โกดังพักหนี้" 1 แสนล้าน
1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
-ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท
-ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.64 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ซึ่งรวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน
ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย
กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
รมว.คลัง ระบุว่า ทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดย ครม.สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และ ครม.สามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้