ด่วน ศาลฎีกาสั่งจำคุก 'เสก โลโซ' 2 ปี 18 เดือน
ด่วน ศาลฎีกาสั่งจำคุก 'เสก โลโซ' 2 ปี 18 เดือน จากเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
(25 มีนาคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญามีนบุรี นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีดำ อ.1662/61 ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือ เสก โลโซ ร็อกเกอร์ชื่อดัง เป็นจำเลยฐานเสพยาเสพติด (ไอซ์) โดยฝ่าฝืนกฎหมายและข้อหาอื่น โดยเหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
สำหรับคดีของนายเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือ เสก โลโซ อายุ 47 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำคุกตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ 1 ปีรับสารภาพลดโทษเหลือ 6 เดือน , ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยขู่เข็ญว่าจะประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืน ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และฐานเสพยาฯจำคุกอีก 6 เดือนรวมจำคุกคดีนี้ทั้งสิ้นเป็นเวลา 1 ปี 18 เดือนและให้บวกโทษของศาลอาญาคดีทำร้ายร่างกายสาวคนสนิทของอดีตภรรยาอีก 1 ปี 3 เดือนเป็น จำคุกจำเลยทั้งสิ้น 2 ปี 21 เดือน โดยศาลไม่รอการลงโทษเเม้ว่าจำเลยอ้างป่วยเป็นโรคไบโพล่าขณะกระทำผิดเรื่องจากเห็นว่าจากพฤติการณ์การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่พบว่าจำเลยรู้ผิดชอบดี จึงไม่อาจอ้างภาวะป่วยดังกล่าวได้
การกระทำของจำเลยนั้นไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งศาลเคยให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีในการรอลงอาญาคดีอื่นไว้แล้วแต่จำเลยยังมากระทำผิดซ้ำในช่วงเวลารอลงอาญาอีก จึงไม่สมควรให้รอลงอาญาและให้นับโทษจำเลยต่อจากคดี พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย
จากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 5 เดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือนเมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 1 ปี 15 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ3705/2559 ของศาลอาญาเข้ากับโทษของจำเลย ในคดีนี้เป็นจำคุก 2 ปี 18 เดือน ยกคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 971 / 2561 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปีต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คู่ความสามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หากผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221
เมื่อจำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกา ศาลอาญามีนบุรีดำเนินการส่งสำนวนให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาเพื่อพิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว ปรากฏว่าผู้พิพากษาทั้งหมดพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอาญามีนบุรีจึงอ่านคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาให้จำเลยฟังและมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์