โควิดระลอก 3 ไทยเจอสายพันธุ์อังกฤษ 98% แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและเร็ว อนาคตจะครองโลก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง ชี้การระบาดโควิดระลอก 3 ไทยเจอสายพันธุ์อังกฤษ 98% แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและเร็ว อนาคตจะครองโลก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน หรือ ระลอกที่ 3 เผยกว่า 98% ของการระบาดระลอกนี้เป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและเร็ว
โดย ศ.นพ.ยง หรือ หมอยง นั้นได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาระบุว่า "โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 แพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว วิวัฒนาการของไวรัสเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
เราทราบดีว่าสายพันธุ์ที่เริ่มต้นจากประเทศจีนเป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ S มาระบาดในประเทศไทยในระยะรอบแรก สายพันธุ์ L ไปบุกยุโรปแล้ววิวัฒนาการเป็นสายพันธุ์ V และ G
สายพันธุ์ G แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าจึงกระจายไปทั่วโลกมาแทนที่สายพันธุ์เกือบทั้งหมด ติดง่ายกว่า
สายพันธุ์ G วิวัฒนาการต่อไปเป็น GH และ GR สายพันธุ์ G จึงมาระบาดในประเทศไทยที่สมุทรสาครด้วยเช่นเดียวกัน (GH)
การระบาดในยุโรปเป็นสายพันธุ์ GR เป็นส่วนใหญ่ และก็วิวัฒนาการต่อไป เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 หรือเรียกว่าสายพันธุ์ GRY ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในตำแหน่งที่ 501 (N501Y) หรือเปลี่ยนจาก asparagine ไปเป็น tyrosine ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะเกาะกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สายพันธุ์นี้จึงระบาดอย่างกว้างขวางโดยเริ่มจากอังกฤษเข้าสู่ยุโรปและอเมริกา เข้าสู่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะมากขึ้น และเข้าสู่เขมรมาสู่ประเทศไทย และในอนาคตสายพันธุ์นี้จะครองโลก จนกว่าจะมีสายพันธุ์ที่แพร่กระจายง่ายกว่านี้อีกก็จะมาแทนที่ต่อไป
ในประเทศไทยการระบาดรอบใหม่หรือจะเรียกว่าระลอก 3 ก็ได้ เริ่มจากสถานบันเทิงและกระจายไปทั่วประเทศไทย จากการตรวจวินิจฉัยที่ศูนย์ ที่ทำอยู่ขณะนี้มากกว่า 300 ราย พบการระบาดครั้งนี้ 98% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ เหลือเพียงไม่ถึง 2% เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือที่ได้รับมาจากพม่าที่สมุทรสาคร
สายพันธุ์นี้ติดต่อได้ง่ายกว่าเดิมจึงได้แพร่กระจายไปมากมาย อย่างที่คิดไว้แล้วตอนต้นไม่ได้เกินความคาดหมาย การจะยับยั้งการกลายพันธุ์ต่อไป จะต้องหยุดการระบาดของไวรัสนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยระเบียบวินัย การปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดที่ทุกคนรู้ และการให้วัคซีนอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้มีภูมิต้านทานในการป้องกันการติดเชื้อให้มากที่สุด
ไวรัสนี้คงอยู่กับเราอีกนานหรือตลอดไป เราจะต้องปรับตัวให้ได้และหาวิธีในการป้องกันให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรคนี้ลงให้ได้"
อ่านข่าว : สถิติใหม่ระลอก เม.ย. ชลบุรี พบติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 155 ราย รอผลตรวจอีกเป็นพัน
อ่านข่าว : อัปเดตจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ สถานการณ์ทั่วโลก (17 เมษายน 2564)