"ตรีนุช" เผย ไม่เลื่อนเปิดเทอม 64 ให้ สพท.เรียกบรรจุครูบัญชีเขตฯใกล้เคียง แก้ขาดแคลน
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 'ศธ.' เผย ไม่เลื่อนเปิดเทอม 64 หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจเสนอให้เลื่อนออกไป และ ให้ สพท.เรียกบรรจุครูบัญชีเขตฯใกล้เคียง แก้ขาดแคลน
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึงแนวทางการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ได้ข้อสรุปว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 แต่หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่ดีขึ้น ศธ.ก็อาจจะเสนอให้เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาอีกครั้ง
ส่วนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ปีการศึกษา 2564 ตนได้รับรายงานว่าโรงเรียนมัธยมฯแต่ละแห่งได้เปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ไปแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่กำหนดเป็นวันสอบเข้าเรียนนั้น ตนได้มอบหมายให้ทาง สพฐ.ไปจัดเตรียมการจัดสอบของแต่ละโรงเรียนให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้มข้นของกระทรวงสาธารณสุข และวันประกาศผลสอบและสอบสัมภาษณ์ ให้โรงเรียนจัดแบ่งกลุ่มนักเรียน เพื่อลดการรวมตัวของนักเรียน
"อย่างไรก็ตาม จะมีการเสนอแผนการจัดสอบนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ให้ ศบค.ได้พิจารณาอนุมัติการสอบต่อไป"
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวถึงการจัดสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 ว่า คงไม่สามารถจัดสอบได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาการขาดครูในภาคเรียนที่ 1/2564 สพฐ.จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต่างๆ สามารถเรียกบรรจุครูที่สอบขึ้นบัญชีไว้ของ สพท.ที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ รวมทั้งให้โรงเรียนใน สพท.เดียวกันจับคู่โรงเรียนพี่โรงเรียนน้องเพื่อช่วยเหลือกันทางวิชาการอีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษาในสังกัด เพื่อรองรับหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย เนื่องจาก รมว.ศธ.ได้กำชับเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์จะต้องทำให้มีประสิทธิภาพ
ซึ่งปีการศึกษาที่ผ่านมา สพฐ.มีทางเลือกให้นักเรียนได้เรียนอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบ Online, Onsite และ Onhand ดังนั้น นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด หรือจะเลือกเรียนแบบผสมผสานก็ได้
"ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมความพร้อมในทุกมิติ ไม่ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะเป็นอย่างไร นักเรียนในสังกัดจะต้องได้เรียนอย่างเต็มที่ โดยในปีนี้การจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน อาจจะมีความแตกต่างกันตามความพร้อมของแต่ละแห่ง" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว