บีทีเอส "หนี้ที่รัฐต้องจ่าย-ค่าโดยสาร"
"บีทีเอสซี"ยัน กทม.ต้องจ่ายหนี้ 3 หมื่นล้าน ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาทตลอดสายตามที่"รสนา"และองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องเป็นไปไม่ได้ด้าน"รสนา"เห็นด้วยรัฐต้องจ่ายหนี้แต่รัฐบาลไม่ควรเอาเรื่องหนี้มาเป็นข้ออ้างในการต่อสัญญาสัมปทาน30 ปีค่าโดยสาร 65 บาท
รายการ“คมชัดลึก”ออกอากาศทางเนชั่นทีวีช่อง22 วันที่ 27 เมษายนเวลา 22.00 น.ดำเนินรายการโดย นารากร ตินายน ในหัวข้อ "บีทีเอส ราคาที่ต้องจ่าย" ซึ่งมีผู้ร่วมรายการคือ น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ“บีทีเอสซี” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส
โดยทางรายการมีการพูดกันใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.หนี้ที่รัฐมีต่อ"บีทีเอสซี" ประมาณ 30,000 ล้านบาท 2. หากมีการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรอยู่ที่เท่าไหร่
น.ส. รสนา ได้เสนอประเด็นว่า ถ้ามีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับ “บีทีเอสซี ” ไปอีก 30 ปี ตัวเลขอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (หมอชิต-อ่อนนุช และส่วนต่อขยาย ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต และส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ)อยู่ที่ 25 บาท ตลอดสาย น.ส. รสนาและองค์กรผู้บริโภค สามารถรับได้
ส่วนทาง “บีทีเอสซี” รับเงื่อนไขของ คสช.เมื่อปี 2562 คือค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายต่อสัญญา 30 ปี และ“บีทีเอสซี”รับหนี้ทั้งหมดมารวมทั้งมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ กทม. ด้วย
แต่ประเด็นที่ทางรายการชี้ คือ ต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี 2. เรื่องค่าโดยสารว่าควรจะเท่าไหร่จะ 65 บาท หรือ 25 บาท
เรื่องแรก เรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี นั้น น.ส. รสนา ระบุว่า ไม่เห็นด้วย หากมีการต่อสัญญาสัมปทานในราคาค่าโดยสาร 65 บาท แต่ถ้าค่าโดยสารอยู่ที่ 25 บาท ตนยอมรับได้และเชื่อว่าเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้งหลายก็จะรับได้
ส่วนนายสุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี บอกว่า ราคาค่าโดยสาร 25 บาท คงเป็นไปไม่ได้ ตัวเลขคำนวณค่าโดยสารของ น.ส.รสนา ที่นำมาแสดงซึ่งเป็นตัวเลขของกระทรวงคมนาคม ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าราคาค่าโดยสาร 25 บาทจะทำให้บริษัทฯขาดทุนไปตลอด และอยู่ไม่ได้ ที่ น.ส. รสนา บอกว่าค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศจะถูก เพราะว่ารัฐสนับสนุนเอกชนที่ลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่รถไฟฟ้าสายสีเขียวของบ้านเรารัฐไม่ได้ช่วย ในส่วนแรกที่เป็นสัมปทานเอกชนลงทุนเองทั้งหมด สำหรับส่วนต่อขยาย กทม. ช่วยเล็กน้อย ส่วนที่โอนมาจาก รฟม. ก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ก็ต้องเอามาคิดด้วย
พิธีกร ถามว่า ตอนนี้ กทม.มีหนี้สินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจาก“บีทีเอสซี" รับจ้างเดินรถให้กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของ กทม.ในปี 2560 จนถึงมีนาคมปี 2564 ทาง"บีทีเอสซี" จะขอให้ ทาง กทม. จ่ายหนี้จำนวนนี้มาให้ "บีทีเอสซี" ก่อนใช่หรือไม่ถ้ายังไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานหรือยังไม่มีข้อสรุปมาจาก ครม. นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราก็มีภาระในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน ก็ต้องทวงหนี้ และเมื่อทวงแล้ว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ ก็ต้องดำเนินการตามสัญญากฎหมาย
น.ส.รสนา กล่าวในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลไม่ควรเอาเรื่องหนี้สินมาเป็นข้ออ้างในการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสซี และคิดราคาค่าโดยสาร 65 บาท เรื่องหนี้สินก็ต้องแยกออกไป รัฐก็ต้องจ่ายให้กับบริษัทเอกชน
"เรื่องหนี้สินรัฐก็จ่ายไป แต่อย่านำมาเป็นข้ออ้างว่า รัฐไม่มีจ่ายจึงต้องต่อสัญญาให้กับบีทีเอสซี 30 ปี ในราคาค่าโดยสาร 65 บาท เป็นการมั่ว โดยเอาภาระหนี้สินมาบีบบังคับก็เหมือนกับการต่อสัญญาทุกครั้งของรัฐบาล ไม่ว่าเป็นการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ก็อ้างว่าเอกชนฟ้องต้องให้เอกชนเลิกฟ้อง จึงต้องยอมต่อสัญญาสัมปทานให้ สัญญาสัมปทานในประเทศนี้ ไม่มีวันหมดก็ต้องต่อไปเรื่อยๆ"
พิธีกรถามว่า กทม. บอกว่า ไม่มีเงินจ่ายหนี้ให้กับ“ บีทีเอสซี” จะทำอย่างไร น.ส. รสนา กล่าวว่า รัฐมีหนี้สินอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบ จ่ายไปก่อน แต่ไม่ใช่นำเรื่องหนี้สินที่รัฐต้องจ่ายให้กับ“บีทีเอสซี” มาอ้างในการคิดคำนวณค่าโดยสารหรือต่อสัญญาสัมปทานให้อีก 30 ปี ในราคาค่าโดยสาร 65 บาท รัฐบาลต้องบริหารให้ประชาชนได้เดินทางด้วยราคาค่าโดยสารที่ต่ำที่สุด เพราะขนส่งระบบรางมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหารถติด ดังนั้นต้องให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น แต่ถ้าราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาสูง ไม่มีใครขึ้นได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามราคาค่าโดยสารถูกลง ประชาชนใช้บริการได้ คนก็จะเลิกขับรถบนท้องถนน รถน้อยลง
พิธีกรถามว่า ทางบีทีเอสซี บอกว่า จะดำเนินการทางกฎหมายกับ กทม. ที่ไม่ตอบสนองในเรื่องหนี้สิน 3 หมื่นล้านบาท จะดำเนินการอย่างไรบ้าง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กำลังปรึกษากับทนาย เราไม่มีทางเลือก ก็ต้องไปฟ้องศาล มีหนังสือไปยัง กทม.หลายรอบและขีดเส้นว่า ภายใน 60 วันจะต้องให้คำตอบว่าอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
น.ส. รสนา กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า มีการรู้เห็นเป็นใจกันหรือไม่ กับการที่เอกชนจะใช้วิธีฟ้องแล้วหน่วยงานรัฐ ก็จะอ้างว่าเพื่อให้ระงับการฟ้องร้อง จึงต้องต่อสัญญาสัมปทานให้
"ไม่ต้องเอาเรื่องหนี้สินมาบีบบังคับให้ดูเสมือนว่ารัฐไม่มีอำนาจต่อรอง รัฐต้องยอม จึงต้องต่อสัญญาสัมปทานให้ ที่อ้างว่ารัฐไม่มีเงินเป็นข้อแก้ตัวทั้งสิ้น เพราะรัฐต้องมีอำนาจมากกว่าเอกชนอยู่แล้ว รัฐต้องคิดทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้มากที่สุด"
พิธีกรถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่องค์กรภาคประชาชน จะกดดันให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม น.ส. รสนา กล่าวว่า กดดันอยู่แล้ว และเมื่อรัฐมีหนี้ก็ใช้ให้เอกชนไปเพราะที่จริง ประชาชนเป็นคนจ่ายอยู่แล้ว ก็เอามาจากภาษีของประชาชน แต่อย่าเอาเรื่องหนี้มาเป็นเงื่อนไขว่าต้องต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี ในราคาค่าโดยสาร 65 บาท เพราะทำให้ตนสงสัยว่าจะมีเงินทอนหรือไม่ เพราะแค่คิดราคาค่าโดยสารตามที่กระทรวงคมนาคมคำนวณมาคืออยู่ที่50 บาท ก็ยังกำไรบานเบอะ แต่ถ้าอ้างว่าตัวเลขของกระทรวงคมนาคมไม่ถูกต้อง ก็ไปถกกันเรื่องตัวเลขค่าโดยสาร ให้ยุติเสียก่อน แต่อย่ามารีบร้อนในการต่อสัญญาสัมปทานโดยอ้างว่าจะถูกฟ้อง
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับรัฐบาลตามที่ น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกต เรื่องหนี้สินที่รัฐต้องจ่าย ก็ต้องว่ากันไป ส่วนเรื่องสัมปทาน ถ้าคิดว่าต้องรออีก 8 ปี (สัญญาสัมปทานสิ้นสุดปี 2572 ) ก็รอได้ แต่เรื่องหนี้สินก็ต้องดำเนินการให้เรา
โดยสรุป น.ส. รสนา และองค์กรเพื่อผู้บริโภคเห็นด้วยกับการที่รัฐต้องจ่ายหนี้ให้กับเอกชน แต่จะกดดันรัฐบาลห้ามต่อสัญญา 30 ปี ในราคาค่าโดยสาร 65 บาท
และเรื่องนี้สุดท้ายรัฐบาลหรือ กทม. ต้องตอบเรื่องนี้รวมทั้งหนี้สิน 30,000 ล้านบาทที่ “บีทีเอสซี” ร้องขอมา