รู้ก่อนสาย เก็บเงินในวัยทำงานเดือนละเท่าไหร่เพื่อที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ
รู้ก่อนสาย เก็บเงินในวัยทำงานเดือนละเท่าไหร่เพื่อที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ
นักวิชาการด้านการเงิน ม.เกษตรศาสตร์ ส่งสัญญาณถึงคนวัยทำงานต้องออมเงินรายเดือนเพื่อวางแผนสำหรับที่อยู่อาศัยของตนเองหลังวัยเกษียณด้วยเพราะโจทย์สังคมสูงวัยเปลี่ยนไปแล้ว แนวโน้มไลฟ์สไตล์ผู้สูงวัยเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น เริ่มมีการดูแลสุขภาพกายและจิตใจของตนเองให้แข็งแรง และมุ่งหวังเป็นประชากรที่สร้างผลิตผลให้สังคมต่อไปได้
รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม อาจารย์ประจําภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า นับจากวันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว คนวัยทำงานจำเป็นต้องตระหนักให้มากในเรื่องการออมเงินเพื่อใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณอายุโดยเฉพาะการออมเพื่อใช้จ่ายในส่วนของที่พักอาศัย แม้ปัจจุบันผู้สูงวัยจำนวนมากยังคงได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน แต่แนวโน้มวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้สูงวัยเริ่มมีความมุ่งหวังในการพึ่งพาตนเองมากขึ้นในทุกๆ ด้าน การเตรียมออมเงินในวัยทำงานสำหรับการวางแผนเพื่อที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ปัจจุบันไทยมีจำนวนประชากร 67 ล้านคน มีผู้สูงวัยหรือมีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 12 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 16 ล้านคน หรือร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมด ในปี 2572 โดยผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นนี้จัดเป็นกลุ่มประชากรที่มีรูปแบบการใช้ชิวิตแตกต่างจากในอดีต เป็นกลุ่มที่ต้องการพึ่งพาตนเองและมีความต้องการพื้นฐาน ได้แก่ (1) สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง (2) จิตใจแจ่มใส และ (3) ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือชุมชน แนวโน้มเช่นนี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่พักอาศัยในวัยหลังเกษียณอายุที่จะตอบสนองความต้องการ 3 ประการข้างต้น เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ทำไมเรื่องของการออมเงินเพื่อที่พักอาศัยหลังวัยเกษียณ เป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนวัยทำงานในขณะนี้? ปัจจัยหนึ่งมาจากกลุ่มคนวัยทำงานในปัจจุบันนี่เองที่จะกลายเป็นกลุ่มผู้สูงวัยในอนาคต การวางแผนการเงินสำหรับตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ ช่วยเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตในสังคมสูงวัยได้อย่างมีความสุข วัยทำงานเป็นช่วงวัยที่สร้างรายได้ที่ค่อยๆ มีความมั่นคงไปตามระยะเวลา การมีข้อมูลของตนเองเพื่อรู้ว่านิสัยการออม นิสัยการใช้จ่าย เป็นอย่างไรจะช่วยทำให้การวางแผนการเงินเพื่ออนาคตทำได้ดีขึ้น
รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ จึงได้นำเสนอผลงานการพัฒนา แบบคำนวณพื้นฐาน การวางแผนออมเงินเพื่อที่อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุ สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับนายสมเจตต์ เดชาโภคิน มหาบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงินประยุกต์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนานโดยเป็นหนึ่งในผู้บริหารบริษัทศุภริช ผู้ผลิตและติดตั้งประตูหนีไฟรายใหญ่ของประเทศไทย ทั้งนี้ แบบคำนวณพื้นฐานดังกล่าว ใช้ปัจจัยพื้นฐานหลักในการคำนวณ ได้แก่ อายุเฉลี่ยของประชากรไทยตามหลักคณิตศาสตร์ประกันชีวิต อัตราเงินเฟ้อตามข้อมูลในอดีตซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ เป็นการช่วยประเมินการออมเงินเพื่อรองรับการใช้บริการที่พักผู้สูงอายุที่กล่าวถึงข้างต้น โดยสามารถเข้าถึงได้จากลิ้งค์นี้ https://suparich.co.th/project_health/home.php หรือสแกน QR Code ด้านล่างและกรอกข้อมูลตามขั้นตอนที่ปรากฏ
ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพ เขตชุมชนที่พักอาศัย และจำนวนบุตร ข้อมูลประเภทบ้านพัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยเฉลี่ยของท่านในการเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแต่ละครั้ง เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ระบบจะแสดงผลลัพธ์โดยคำนึงถึงมูลค่าเงินตามเวลา กล่าวคือ เงินที่ต้องการใช้ในอนาคต ย่อมต้องมีจำนวนที่มากขึ้น เพื่อชดเชยเงินเฟ้อ โดยผู้ใช้งานจะทราบเป้าหมายการออมรายเดือน ดังตัวอย่าง ผู้ประเมินเพศชาย สถานะโสดอายุ 53 ปีไม่มีบุตร เลือกรูปแบบที่พักแบบเข้าอาศัย มีเวลาอีก 7 ปีจะถึงวัยเกษียณ จากสถิติประชากรศาสตร์เพศชายจะมีอายุเฉลี่ยถึง 72 ปีแสดงว่ามีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณ 12 ปี ผู้ทำแบบประเมินจะมีไทม์ไลน์แสดงแผนการออมเงินดังนี้
ทั้งนี้ผลการประเมินที่ได้ จะช่วยให้ผู้ใช้ตระหนักถึงความสำคัญในการออมเงิน โดยอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน หรือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเงินออม ซึ่งแบบประเมินข้างต้นไม่ได้ครอบคลุมไว้ เพราะหากผลตอบแทนการลงทุนจากการออมที่เพิ่มสูงขึ้น จะช่วยลดจำนวนเงินออมได้ โดยสามารถติดต่อใช้บริการจากนักวางแผนการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย