(คลิป) ทุเรียนไทย ขายดีในตลาดจีน สวนกระแสวิกฤติ โควิด-19
ทุเรียน กลายเป็นผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของประเทศ โดยในปี 2020 จีนนำเข้าทุเรียนสดมูลค่ารวมกว่า 4.68 หมื่นล้านบาท จากไทย เติบโตขึ้นร้อยละ 77.57 เมื่อเทียบปีต่อปี
สือเหล่ย ชาวจีนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เป็นหนึ่งในผู้ชื่นชอบราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน” “ผมเคยกินทุเรียนมาหลายพันธุ์แล้ว ทั้งกระดุมทอง พวงมณี และ หมอนทอง วันนี้ผมจะลองชิมทุเรียนก้านยาวดูบ้าง”
สือเหล่ย กล่าวว่า ทุเรียนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีกลิ่นและรสที่หอมหวาน เนื้อนุ่มน่ารับประทาน เขาหวังว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว เพื่อที่เขาจะได้พาครอบครัวไปท่องเที่ยวและลิ้มรสทุเรียนสดๆ จากสวนในประเทศไทย
(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานของร้านขายผลไม้จัดเรียงทุเรียนที่เพิ่งมาส่งใหม่บนชั้นวาง ที่เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 29 เม.ย. 2021)
(คลิป) ทุเรียนไทย ขายดีในตลาดจีน สวนกระแสวิกฤติ โควิด-19
ปัจจุบันชาวจีนสามารถหาซื้อผลไม้นำเข้าหลากหลายสายพันธุ์ได้ทั่วไปในตลาด ทั้งทุเรียนไทย เชอร์รีชิลี แก้วมังกรเวียดนาม และ อะโวคาโดเม็กซิโก ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จีนนำเข้าทุเรียนสดในปริมาณมากขึ้น แซงหน้าเชอร์รี และกลายเป็นผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของประเทศ โดยในปี 2020 จีนนำเข้าทุเรียนสดมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.68 หมื่นล้านบาท) จากไทย เติบโตขึ้นร้อยละ 77.57 เมื่อเทียบปีต่อปี
ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โรคโควิด-19 ที่ระบาดในทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อปัจจัยหลายประการในการนำเข้าผลไม้ อาทิ ราคาผลไม้ที่เพิ่มสูงในประเทศผู้ผลิต ความสัมพันธ์ด้านอุปสงค์ - อุปทาน รวมถึงมาตรการด้านการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ต้นทุนด้านการนำเข้าทุเรียนเพิ่มสูงขึ้น ราคาทุเรียนทั้งทางหน้าร้านและทางออนไลน์จึงสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อทุเรียนของบรรดาผู้บริโภคชาวจีนกลับไม่ได้ลดลง
หวงเฉิน เจ้าของร้านขายผลไม้รายใหญ่ในเขตชิงซิ่ว นครหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซี จัดเรียงทุเรียนหมอนทองและก้านยาวไว้อย่างเป็นระเบียบ แม้ทุเรียนจะมีราคาสูงกว่าปีก่อนๆ แต่ชาวจีนอายุน้อยจำนวนมากยังคงมาหาซื้อไปรับประทาน หวงเล่าว่าช่วงที่ผ่านมาเขาขายทุเรียนก้านยาวได้ราว 200 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนหมอนทองก็ขายดีเช่นกัน
ปัจจุบันมีทุเรียนหลายสายพันธุ์ในท้องตลาดจีน อาทิ ทุเรียนหมอนทอง พวงมณี ชะนี และกระดุมทอง แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ทุเรียนหมอนทอง ที่มีผลผลิตสูงและมีรสชาติหอมหวาน ขณะเดียวกัน คนรักทุเรียนในจีนก็ยินดีที่จะลองกินทุเรียนสายพันธุ์ของประเทศอื่นๆ เช่น ทุเรียนมูซันคิงและทุเรียนสุลต่านจากมาเลเซีย
(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานของร้านขายผลไม้จัดเรียงทุเรียนที่เพิ่งมาส่งใหม่ๆ บนชั้นวาง ที่เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 29 เม.ย. 2021)
(คลิป) ทุเรียนไทย ขายดีในตลาดจีน สวนกระแสวิกฤติ โควิด-19
เมื่อไม่นานมานี้ เหว่ยพ่าน สตรีมเมอร์ชาวจีนคนหนึ่ง เดินทางจากนครหนานหนิงไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อรับทุเรียนลอตที่สองที่เขานำเข้าด้วยตนเอง ทุเรียนหมอนทองกว่า 100 กล่อง ได้รับการขนส่งทางอากาศมาจากจังหวัดจันทบุรีทางตะวันออกของไทย และมาถึงยังคุนหมิงภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนจะถูกจัดส่งไปยังมือลูกค้า เหว่ย เผยด้วยว่า ขายทุเรียนหมอนทอง 3 ตัน หมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มผู้บริโภคทุเรียนโตขึ้น ผมเชื่อว่าการนำเข้าทุเรียนเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน” เหว่ย เคยทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่เกาะสมุยของไทยเป็นเวลาหลายปี หลังกลับมาจีนแล้วเขาก็ยังติดตามข่าวสารด้านธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าระหว่างจีนไทยอยู่เสมอ ปัจจุบันฐานลูกค้าหลักของเขาคือกลุ่มผู้ชื่นชอบทุเรียนและชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจีน
ชาวจีนนำเข้าทุเรียนไทยผ่านการขนส่งหลายประเภท ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ แต่ละประเภทมีข้อได้เปรียบด้านราคาและระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป ปัจจัยการเลือกวิธีการขนส่งมักขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณสินค้า รวมถึงความต้องการของลูกค้า
ปัจจุบัน เหว่ยพ่าน มีสินค้าที่ต้องขนส่งในปริมาณน้อย เขาเลือกใช้บริการขนส่งทางอากาศที่มีค่าใช้จ่ายสูงแต่รวดเร็วกว่า ลูกค้าหลายคนชอบทุเรียนสุกพอดี เหว่ยจึงเลือกทุเรียนห่ามและรีบจัดส่งให้ลูกค้า หลังขนส่งทางอากาศแล้ว ก็จะทำการจัดส่งด่วนภายในจีน ปกติทุเรียนจะถึงมือลูกค้าภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง เหว่ยพ่านกล่าวด้วยว่าหากในอนาคตเขาได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มมากพอจนสามารถใช้ตู้สินค้าได้ เขาจะพิจารณาการขนส่งทางบกแน่นอน
เมืองผิงเสียงของกว่างซี ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนาม เป็นท่าบกที่รองรับการนำเข้า - ส่งออกผลไม้ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนในปริมาณมากที่สุด ผู้ค้าสามารถขนส่งผลไม้ไทยผ่านเวียดนามมายังจีนผ่านท่าด่านรถไฟผิงเสียงและด่านโหย่วอี้กวนของเมืองผิงเสียง
(แฟ้มภาพซินหัว : รถไฟที่บรรทุกทุเรียนไทยเดินทางจากเวียดนามมาถึงสถานีรถไฟเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 27 เม.ย. 2021)
(คลิป) ทุเรียนไทย ขายดีในตลาดจีน สวนกระแสวิกฤติ โควิด-19
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ท่าด่านรถไฟผิงเสียงกลับมาดำเนินการขนส่งในระบบห่วงโซ่ความเย็นข้ามพรมแดนอีกครั้ง ทำให้มีผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียนถูกขนส่งผ่านท่าแห่งนี้มากขึ้น โดยระหว่างวันที่ 21 - 29 เม.ย. มีตู้สินค้าบรรจุทุเรียนถูกขนส่งเข้าจีนผ่านท่าด่านรถไฟผิงเสียงจำนวน 50 ตู้ น้ำหนักรวม 1,098 ตัน
“พนักงานเก็บทุเรียนจากสวน บรรจุใส่กล่องขึ้นรถมายังสถานีรถไฟในตำบลด่งดัง ของเวียดนาม จากนั้นรถไฟจึงบรรทุกทุเรียนผ่านท่าบกเข้ามายังจีน นี่เป็นวิธีขนส่งที่เราใช้เป็นประจำ ระยะเวลารวมราว 2 วัน เทคโนโลยีการขนส่งแบบรักษาความเย็นทำให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสทุเรียนที่สดใหม่” คำบอกเล่าจาก ฟางเผิง ผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ กว่างซี เป่าเซิง จ้งเหิง กล่าว
โดยเมื่อปีก่อน บริษัทฯ ขนส่งตู้สินค้าบรรจุทุเรียนทั้งหมด 283 ตู้ น้ำหนักรวมกว่า 5,000 ตัน ส่วนมากถูกนำไปขายในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่เช่นในนครกว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ ฟาง คาดว่า ปีนี้บริษัทจะสามารถนำเข้าทุเรียนไทยผ่านวิธีข้างต้นได้ถึง 25,000 ตัน
ผู้ประกอบการท้องถิ่นในจีนจำนวนมากต่างเฝ้ารอฤดูผลิตและค้าทุเรียน โดยพวกเขาจะเร่งเจรจากับบริษัทไทยตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคว้าโอกาสทอง
หลังจากท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (ตังเกี๋ย) ทางตอนใต้ของกว่างซี เปิดเส้นทางเดินเรือกับท่าเรือต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ บริษัทจีนจึงสามารถนำเข้าผลไม้ไทยผ่านการขนส่งทางเรือได้
ซูอิงไห่ จากบริษัทด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานกว่างซี อวี้หัว กล่าวว่า การขนส่งทางทะเลใช้เวลาราว 4 วัน มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น ทั้งยังสามารถเลี่ยงการจราจรทางบกที่อาจติดขัดได้อีกด้วย
หลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้รายสำคัญของจีน ภายใต้กรอบการทำงานของเขตการค้าเสรีจีน - อาเซียน จีนนำเข้าผลไม้เขตร้อนจากอาเซียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากทุเรียนแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนยังชื่นชอบผลไม้จากไทยอีกหลายชนิด เช่น มังคุด มะพร้าว มะม่วง และชมพู่
(คลิป) ทุเรียนไทย ขายดีในตลาดจีน สวนกระแสวิกฤติ โควิด-19
อ่านข่าว - เปิด 3 ช่องทาง ลงทะเบียน ฉีดวัคซีน โควิด-19 สองกลุ่ม 16 ล้านคน เริ่ม 1 พ.ค.
CR : xinhuathai.com