
บ้านทรุด!ทำงัยดี ?
ออกแบบไม่เผื่อไว้...มีปัญหาทั้งนั้น พอมีเรื่องได้แต่ "เห็นใจ" เป็นข่าวหน่อยก็ได้รับความสนใจ พอไม่เป็นข่าวก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม
ว่ากันถึงปัญหาบ้านทรุด-บ้านร้าว ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้น... รายล่าสุดที่เกิดขึ้นใครดูข่าวคงตกใจ เห็นใจไม่น้อยกับความเดือดร้อนของชาวบ้านเป็นหลักร้อยหลังคาเรือน ในหมู่บ้าน รินทร์ทอง หมู่ 2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จากปัญหาดินทรุด ทำให้ถนนและซอยในหมู่บ้านทรุดกว่า 1 เมตร กระทั่งบ้านแบบทาวน์เฮ้าส์แตกร้าวและตอม่อเสาเข็มโผล่จนมองเห็นโพลงดินขนาดใหญ่ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง....ก็คงต้องรอสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง ! พร้อมทางออก
ในกรณีนี้ "คม ชัด ลึก" ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสอบถามผู้รู้ในวงการก่อสร้าง ทั้งที่เป็นสถาปนิก วิศวกร นำเสนอเพื่อจะช่วยเป็นอีกช่องทางหนึ่งของทางออก เพราะว่าไปแล้วพื้นดินจะทรุดลงทุกๆ ปี ซึ่งการทรุดหรือการเลื่อนไหลของดินจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ที่มีความต่างระดับของดิน เช่นบริเวณริมน้ำ บ่อน้ำ ฯลฯ จะยิ่งมีโอกาสเลื่อนไหลได้ง่าย หากไม่ป้องกันการเลื่อนตัวของดินให้ดีเพียงพอ อาจก่อเกิดปัญหาอาคารทรุดตัวภายหลัง
ดังนั้นหากมองดูด้วยสายตาแล้วรู้สึกว่าอาคารเริ่มเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น เอียงไปทางบ่อน้ำ หรือคลอง ควรรีบดำเนินการแก้ไขป้องกันการเลื่อนไหลของดินเป็นการเร่งด่วน ในทางกลับกันหากต้องการขุดดินชิดกับอาคารข้างเคียง ซึ่งถึงแม้หลุมหรือบ่อที่ขุดจะตื้นๆ ไม่ลึกมาก ก็ควรหาแนวทางป้องกันดินให้ดีก่อนทำการขุด เพราะอาจเกิดปัญหาดินไหลแล้วทำให้อาคารข้างเคียงเคลื่อนตัวหรือทรุดเอียงได้ โดยมีสาเหตุมาจากน้ำที่เกิดจากการตกของฝนหรือเกิดจากการระบายน้ำจากครัวเรือน
ศักดา โควิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน บอกว่า พอดินมีการเลื่อนจะทำให้ฐานรากและเสาเข็มของอาคารเคลื่อนตัวไปด้วย ฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกของอาคารได้ตามเดิม อาคารจะทรุดจมลง และถ้าดินเคลื่อนไหลเป็นปริมาณมาก เสาเข็มของอาคารอาจถูกดันจนหลุดจากครอบหัวเสาเข็ม เป็นเหตุให้อาคารทรุดตัวแบบฉับพลัน
"หากดินทรุด เอาดินไปถมก็ช่วยได้แต่อยู่ๆ ไปก็จะทรุดอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงเทคนิคซึ่งจะต้องคิดและป้องกันไว้ให้ดีตั้งแต่ต้น ต้องคุยกับวิศวกรตั้งเริ่มต้นการดีไซน์แบบเลย" ผู้บริหารรอแยลเฮ้าส์ บอกเล่าถึงทางแก้ไว้พร้อมกับย้ำว่า งานโครงสร้างเป็นงานที่สำคัญที่สุด หากมีปัญหาแล้วยากที่จะแก้ไข ดังนั้นงานก่อสร้างโครงสร้างแม้อาจจะจ่ายแพงกว่าปกติทั่วไปก็ต้องยอม เพราะถึงแม้พื้นดินจะทรุด แต่หากมีการออกที่ดี มีการคิดตั้งแต่เริ่มต้นทำงานร่วมกันกับวิศวกร ยอมจ่ายแพงหน่อย หรือยอมเอากำไรน้อยหน่อยก็น่าจะดี
การแตกร้าว หรือการทรุดตัวของอาคารนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น หากวิเคราะห์เชิงวิชาการหรือหลักการแล้วพบว่าต้นเหตุอยู่ที่การเคลื่อนตัวของดิน ก็ต้องหยุดการเคลื่อนตัวของดินให้ได้แล้วจึงเสริมฐานรากของอาคารในภายหลัง ดังนั้นก่อนแก้ไขปัญหาอาคารทรุดทุกครั้ง ต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความสูงต่ำของที่ตั้งอาคารมาวิเคราะห์ร่วมด้วยเสมอ
จากข้อมูลที่ได้จากผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการก่อสร้างต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่าปัญหาการทรุดตัวของเสาเข็มอาคารจากการออกแบบฐานรากอาคารไม่ถูกต้องตามพฤติกรรมของดินอ่อน เช่น กำหนดความยาว เสาเข็มไม่เท่ากัน การออกแบบต่อเติมอาคารโดยใช้เสาเข็มความยาวไม่เท่ากับอาคารเดิม เป็นต้น
ในปัจจุบันปัญหาการทรุดตัวของอาคารบ้านเรือนในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงพฤติกรรมของชั้นดินอ่อนที่มีผลต่ออาคารและการก่อสร้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้องอาศัยวิศวกรที่มีความรู้ความชำนาญในการสำรวจออกแบบและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดระหว่างการก่อสร้าง เพื่อจะไม่เกิดผลเสียภายหลังจากอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้สูญเสียทั้งเงินทองและความทุกข์ร้อนใจของเจ้าของผู้อยู่อาศัย ที่ต้องผจญกับสารพันปัญหา และต้องเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าเกิดปัญหาถึงขั้นอาคารพังทลายอย่างที่เป็นข่าวเป็นคราวอยู่เนืองๆ
ทุบทิ้งสร้างใหม่....เป็นความรู้สึกในเชิงประชดที่เชื่อว่าคนที่เผชิญปัญหาเรื่องบ้านทรุดต้องมี !!!
ด้านเทคนิคการก่อสร้างร้อยทั้งร้อย ท่านเจ้าของบ้านส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงขั้นตอนออกแบบโครงสร้างวิศกรเมื่อมีปัญหาตามมา จากขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างวิศวกรมักจะไม่ได้ออกแบบเผื่อตำแหน่งการเยื้องของเสาอาคารและตำแหน่งของเสาเข็มและฐานรากไว้ เมื่อถึงขั้นตอนก่อสร้างถ้าได้ผู้รับจ้างที่มีวิศวกรดูแลก็โชคดีไป แต่ถ้าได้ผู้รับจ้างไม่ดี อาคารที่ก่อสร้างใหม่อาจก่อให้เกิดการทรุดตัวซ้ำแบบเดิมก็ได้เนื่องจากการเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงตำแหน่งเสาเข็มและฐานรากถือเป็นงานที่ต้องอาศัยวิศวกรที่มีประสบการณ์ในการออกแบบ คำนวณและแก้ไข มิควรปล่อยให้ช่างและผู้รับเหมาทำไปตามความเข้าใจ
...ทั้งนี้ เพราะฐานรากคือส่วนสำคัญที่สุดที่ประกันความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งท่านเจ้าของบ้านที่ประสบปัญหาการทรุดตัวของอาคารมาแล้วคงเข้าใจได้อย่างดี ระวังอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ง่ายๆ กับการตรวจสภาพบ้าน
เราตรวจสอบสภาพบ้านที่อยู่ปัจจุบันอย่างไรบ้าง
1.ยืนอยู่ห่างๆ ตัวบ้านหรือตัวอาคารพอสมควร แล้วก็มองไปที่ตัวอาคารเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ แล้วก็ตรวจดูว่าอาคารของเรามันได้ดิ่ง ได้ฉาก หรือไม่ มันเอียงไหม ถ้าดูแล้วมีอาการเอียงๆ เฉๆ พูดง่ายๆ ไม่ตรง ให้บอกกับตนเองได้เลยว่าบ้านเรามีปัญหาแล้วล่ะ
2.ถ้าเดินแล้วรู้สึกแปลกว่าพื้นมันเอียง แต่หากไม่แน่ใจก็ให้ลองเอาลูกปิงปอง หรือลูกแก้ว วางไว้บนพื้น ถ้าลูกปิงปองหรือลูกแก้วกลิ้งไปทางเดียวตลอดเวลาแสดงว่าพื้นตรงนั้นเอียง
3.เมื่อมองเห็นรอยแตกร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่านิ่งนอนใจ ยกเว้นลักษณะของการแตกลายงา(แตกแบบถ้วยชามสังคโลก) ตรงนั้นอาจจะเป็นเพราะปูนฉาบ ไม่ได้เป็นเพราะโครงสร้าง แต่ถ้าลักษณะของการแตกใดเป็นการแตกที่เป็นแนวชัดเจน ไม่ว่าจะแนวเอียง แนวขวาง แนวตั้ง แนวนอน ตรงนี้อาจจะตั้งสมมติฐานไว้ได้เหมือนกันว่ามันมีปัญหาจากระบบงานโครงสร้างของเรา
ถ้าปัญหาทุกอย่างที่กล่าวมาไม่เกิดขึ้นกับบ้านของเราก็สบายใจได้ไปหน่อย แต่ก็ควรจะคอยสังเกตความผิดปกติต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่หากสังเกตแล้วมันเข้าข่ายผิดปกติ ก็ควรรีบหาข้อมูล ปรึกษาผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก วิศวกร แต่หากคุณผู้อ่าน หรือท่านเจ้าของบ้านรายใดมีปัญหาสามารถหาคำตอบได้ในงานสถาปนิก ’53 ทางผู้จัด สมาคมสถาปนิกสยาม ได้เปิดพื้นที่ตั้งโต๊ะรับปรึกษาภายในงานตลอด นอกจากนี้ท่านยังจะได้ชมผลิตภัณฑ์ด้านสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 24 ระหว่างวันศุกร์ที่ 30 เมษายน-วันพุธที่ 5 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี