'พรรคพลัง' จี้ 'รัฐบาล'ปิด (Lock down) กรุงเทพมหานคร 21 วัน
'พรรคพลัง' จี้ 'รัฐบาล'ปิด (Lock down) กรุงเทพมหานคร 21 วัน
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น.นายวิสิทธิ์ ใสกระจ่าง รองโฆษกพรรคพลัง กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) ระลอกล่าสุดหรือระลอก 3 ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นทื่ ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารเครื่องดื่ม ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งตลาดสด ลามเข้าไปในชุมชนที่อยู่อาศัยล้วนมีผู้ติดเชื้อ ปล่อยไว้นานยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สถิติของการระบาดระลอกล่าสุด ตั้งแต่ 1 ม.ย.-1 พ.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อของกรุงเทพมหานครสะสมจำนวน 12,744 คน เมื่อนับยอดสะสมถึง 12 พ.ค.64 จำนวน 21,405 คน นั่นแสดงว่าช่วงตั้งแต่ 2 – 12 พ.ค.64ในเวลา 10 วัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 8,661 คน
โดยรัฐบาลและกรุงเทพมหานครไม่สามารถหาต้นตอของเชื้อได้อย่างชัดเจนเหมือนระลอกแรกๆ ทำได้ดีที่สุดคือรอประกาศว่ามีคลัสเตอร์ใหม่จากจุดนั้นทีจุดนี้ที ส่อให้เห็นถึงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครและศบค.ชุดใหญ่โดยการควบคุมของนายกรัฐมนตรี จากคำกล่าวที่ว่า “ติดคนรวย ซวยถึงฐานราก” แต่จากระลอกล่าสุดนี้ชาวฐานรากซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครแผ่กระจายเป็นวงกว้างทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของกรุงเทพมหานครที่ซบเซามาตั้งแต่ระลอกก่อนยิ่งซบเซามากยิ่งขึ้นแบบไม่เคยเป็นมาก่อน พรรคพลัง จึงเห็นว่า ศบค.ชุดใหญ่ต้องร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง โดยออกมาตรการดังนี้
ปิด ( Lock down ) กรุงเทพมหานคร 21 วัน คำนวณตามระยะการฟักตัวของเชื้อ เพื่อเป็นต้นแบบ ( Model) ให้กับจังหวัดอื่นๆของประเทศไทย โดยกำหนดการล่วงหน้าแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน 7 วัน ระหว่างใช้มาตรการนี้ กทม. 50 เขตจะต้องระดมสรรพกำลังเครื่องไม้เครื่องมือ ออกทำความสะอาด (Big cleaning) ทุกซอกทุกมุมทุกตารางนิ้ว พ่นยาฆ่าเชื้อให้เสร็จสิ้นทุกเขตภายใน 21 วัน
1 สายด่วนต้องพร้อมตลอด 24 ชม.
2 รถพยาบาล มูลนิธิ พร้อม 24 ชม.
3 รพ.ภาคสนาม พร้อมรับผู้ป่วยได้เต็มจำนวน
4.วัคซีนพร้อม
เพราะในช่วงเวลานี้จะมีผู้ติดเชื้อเปิดเผยตัวตนออกมา ในขณะเดียวกันการตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้น จะสามารถควบคุมได้ครบถ้วน แยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ยังไม่ติดได้อย่างชัดเจน พร้อมระดมรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะการรับวัคซีนจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปในตัว สำหรับการชดเชย สามารถนำมาตรการเดิมมาใช้ได้ เช่น เราชนะ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพิ่มเงินและขยายเวลาที่ทำอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจากที่ได้ยินหนาหูเหลือเกินว่า “อยากให้นำเงินเยียวยานั้นไปทำให้เชื้อร้ายนี้หมดไปจากประเทศไทยเสียก่อน” นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการเยียวยาก็สำคัญโดยเฉพาะร้านค้าขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในระดับฐานรากค่อยๆหาทางเยียวยากันอีกครั้งต่อไปเมื่อผ่านวิกฤตินี้ไปแล้วเพราะจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเมื่อเปรียบกับการปล่อยให้เชื้อร้ายซึมลึกเข้าไปเรื่อยๆโดยใช้มาตรการแบบเดิมๆ
แน่นอนว่าจากมาตรการดังกล่าวนี้เศรษฐกิจของกรุงเทพมหาครจะหยุดนิ่งชั่วคราว ต่อเมื่อผ่านมาตรการดังกล่าวไปแล้ว ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็น
1.ความเชื่อมั่นในความสะอาดของสถานที่
2.ความเชื่อมั่นในการมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆที่สามารถคาดได้ว่าปลอดเชื้อ
3.ความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของภาครัฐ และ
4.ความเชื่อมั่นของคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนที่ดี
เมื่อประกาศเปิดการค้าขายสามารถให้นั่งกินในร้านได้ ทำงานได้ปกติ แต่ให้เว้นระยะห่าง ป้องกันตัวเองอีกระยะ เปิดทำกิจกรรมด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อย่างแน่นอน