7 ปี รัฐประหาร ทหารโต้ "ปัญหาของวงจรอุบาทว์" คือใคร แจง ทำอะไรสำเร็จบ้าง
"วาสนา นาน่วม" นักข่าวสายทหาร เผยแพร่บทความ 7 ปี รัฐประหาร ทหารถามสังคมไทยกลับ "ปัญหาของวงจรอุบาทว์" คือใคร? แจง คสช.ทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง
วันนี้ (23 พ.ค.2564) วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ได้เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam เปิดให้เข้าถึงเป็นสาธารณะ ซึ่งเป็นบทความ 7 ปี คสช. ไม่ใช่ทำอะไรไม่สำเร็จ โดย “พลโท คงชีพ” อดีตทีมปรองดองฯ คสช. ชี้ คสช.ทำให้อารมณ์ทางสังคมสงบ หันมา หาทางออกพูดคุยกัน แต่ การกระทำของบางกลุ่มที่ขัดต่อกฎหมาย และ เสียประโยชน์ปลุกแรงต้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้
7 ปี คสช…โอกาสครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่สามารถทำได้ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในวันนั้น และ นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในวันนี้ ได้ประกาศไว้ ทั้งการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทั้งการปรองดองสมานฉันท์ ความขัดแย้งแตกแยก แบ่งสี และ การคืนความสุขให้ประชาชน
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ในฐานะที่เคยเป็น ประธานอนุกรรมการฯ ของคณะกรรมการปรองสมานฉันท์ ในสมัยรัฐบาล คสช. กล่าวว่า ความเห็นต่างทางการเมืองว่า มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่เมื่อมันขัดแย้งรุนแรงเกินทน ของประชาชน และสร้างความเสียหายของประเทศ เป็นวงกว้าง ก็ต้องยุติให้ได้ เพื่อลดการสูญเสียและการเผชิญหน้ากัน
เพราะตลอดระยะเวลาที่รัฐบาล คสช.เข้ามา ก็ได้พยายามแก้ปัญหาหมักหมม เปลี่ยนแปลง พลิกวิกฤตประเทศดีขึ้นในหลายด้านกับระยะเวลาที่มีอยู่ เช่น ประมง IUU การบิน ICAO การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การจัดระเบียบสังคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลักดันกฎหมายมากมายที่ทันสมัยกับสังคมปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่ออารมณ์ทางสังคมสงบ ก็ได้ร่วมเดินหน้าหาทางออกด้วยการพูดคุยกัน สะท้อนความคิดเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่พอจะเป็นทางออกและความหวังร่วมกันได้
“แต่ความยากอยู่ที่การจะทำให้ปรากฎผลจริง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่อผลการกระทำของบางกลุ่มที่ขัดต่อกฎหมายต้องได้รับผลหรือเสียประโยชน์ จึงเกิดแรงต้านและมีความพยายามผลักดันให้ คสช.เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ตัวกลาง หรือตัวแปรคงที่ จึงขาดหาย ส่งผลให้สมการแก้ปัญหายากขึ้น”
หากจะแก้กฎหมายที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคม ก็ต้องได้รับการยอมรับร่วมกัน ปัญหาจุดพอดีที่สังคมยอมรับได้ จึงกลับมาที่กลไกสภาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้งที่ต้องพูดคุยกัน ขณะที่ เราต่างพยายามเรียกร้องหาตัวกลางมาช่วยแก้ปัญหา หรือ แม้กระทั่งดึงต่างประเทศเข้ามาเป็นที่พึ่ง “แล้วอะไรล่ะ” คือ แก่นกลางที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย
ผมเองมีความเชื่อส่วนตัวว่า “ความจริงและผลประโยชน์ส่วนรวม” คือ แก่นของทางออกหลักร่วมกัน หากเราเปิดใจกว้าง ยอมรับความจริงกัน ตั้งหลักอยู่บนฐานที่ไม่มีอคติต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราทุกฝ่าย ต่างก็อ้างว่า “ทำเพื่อประชาชน” ซึ่งเมื่อมันก็คือ เป้าหมายเดียวกันแล้ว แล้วเราจะมาขัดแย้งกันโทษกันไปมาอยู่ทำไม
จึงอยากให้ช่วยกันหาคำตอบร่วมกันว่า “ใครคือ ปัญหาของวงจรอุบาทว์” ณ เวลานี้ จึงต้องการพื้นที่คิดและรวมทุกพลังขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทาง และเป้าหมายเดียวกัน คือ “ประชาชน”
ที่มา..วาสนา นาน่วม