"อนุทิน" ไม่รู้เรื่อง เพิ่มอำนาจนำเข้าวัคซีน"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"
"อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เผย เพิ่งทราบประกาศของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล็ง ถาม นายวิษณุ เครืองาม เรื่องข้อกฎหมายว่าจะมีการซ้ำซ้อนกับการทำงานของ สธ.หรือไม่ หากเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ก็พร้อมและไม่น่าเป็นปัญหา
ตามที่มีเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ โดยประเด็นสำคัญของประกาศ ระบุว่า การให้บริหารทางการแพทย์และการสาธารณสุข ให้หมายความรวมถึง การป้องกัน หรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุม และฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือ ขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็น หรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศ และในต่างประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์ ในสถานการณ์ โควิด-19
ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)”
โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7
ด้านนาย นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงว่า ตามที่มีข่าวประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาวันสองวันที่แล้วนั้น ผมขอค่อยๆ อธิบายทุกๆท่านให้เข้าใจตรงกันตามนี้
๑. การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีน”ตัวเลือก”มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีน”ตัวเลือก”นี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
๒. สำนักงานราชวิทยาลัยที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้
๓. ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยตามพรบ.จัดตั้งราชวิทยาลัย อันเป็นภารกิจปกติ
๔. ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ
๕. ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาฯ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าวัคซีนของ "ซิโนฟาร์ม" โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน และ มีความเป็นได้มากว่าจะมีการนำเข้า ชิโนฟาร์ม จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อเป็นทางเลือกฉีดให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (27 พ.ค.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทยอินไซต์ไทยแลนด์ " ว่า กรณีราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศของ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เพิ่มอำนาจนำเข้าวัคซีน ว่าก่อนหน้านี้ ตนเองได้รับเชิญจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ร่วมฟังการแถลงนโยบายการนำเข้า การบริหารจัดการ "วัคซีนซิโนฟาร์ม" ส่วนประกาศราชกิจจาฯ เพิ่งทราบเมื่อคืนนี้ ซึ่งตนจะต้องปรึกษากับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะต้องทำอย่างไร จะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ แต่หากว่าเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ก็พร้อมอยู่แล้ว และไม่น่าเป็นปัญหา