
ผู้ค้าจตุจักรบุกศาลากทม.ร้องชะลอ-ยกเลิกเก็บค่าเช่าโหด
ผู้ค้าจตุจักรบุกศาลา กทม. ร้องชะลอ-ยกเลิกเก็บค่าเช่าโหด 500 บ./เดือน ด้าน ผอ.ตลาดนัดจตุจักร ยันค่าเช่าเป็นธรรมแล้ว เพราะรวมค่าค้างจ่าย รฟท. 3 ปี
(2ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร กว่า 100 คน นำโดยนายสงวน ดำรงค์ไทย ประธานคณะกรรมการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร นายชาตรี สุขสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ค้า มาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. หลังจากที่บอร์ดตลาดนัด มีมติขึ้นค่าเช่าแผงค้าในอัตราใหม่ 500 บาท โดยนายสงวน กล่าวว่า อัตราค่าแผงค้าใหม่นี้เป็นอัตราที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้า เนื่องจากค่าแผงค้าที่เรียกเก็บในปัจจุบันมีตั้งแต่ 120-2,640 บาท เฉลี่ยแล้วจะอยู่ในอัตรา 350.56 บาท/แผงค้า/เดือน หากคิดเฉลี่ยรายปีจะอยู่ในอัตรา 841.34 บาท/ตรม./ปี ทั้งที่ กทม.จ่ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 32 บาท/ตรม./ปี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเพิ่มเป็น 500 บาท/แผงค้า/เดือน เพราะเป็นอัตราที่สูงมาก นอกจากนี้ ในขณะนี้ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นทางการ ในการที่ รฟท.จะทำการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ในอัตราใหม่ ซึ่งทำให้สภาวะหนี้ยังไม่เกิดกับ กทม. ดังนั้น กทม.ควรชะลอเรียกเก็บค่าแผงค้าอัตราใหม่นี้ไปก่อน
นายสงวน กล่าวว่า ทั้งนี้เห็นว่าพื้นที่ในตลาดนัดยังมีส่วนการค้าหลายส่วนที่ทำรายได้ให้ตลาดนัดจตุจักรได้อีก อาทิ พื้นที่ว่าง พื้นที่ถนน ค่าเช่าพื้นที่ธนาคาร ค่าตั้งวางตู้ ATM ค่าจอดรถ เป็นต้น แต่การคิดค่าแผงค้าบอร์ดตลาดนัดคิดเพียงผู้ค้าจำนวน 8 , 805 แผงที่มีทะเบียนเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นโดยเฉพาะผู้ค้าปูผ้าขายของแบกะดิน รถบริการเข็นของ ผู้ค้าตลาดต้นไม้วันพุธ-พฤหัส ผู้ค้าตลาดโต้รุ่ง บอร์ดตลาดนัดไม่ได้ขึ้นค่าเช่าเพิ่มแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วตนอยากเรียกร้องให้ผู้บริหารตลาดออกมาชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลของการขึ้นค่าเช่าดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ค้ายืนยันที่จะรอคำตอบจากผู้บริหารว่าจะชะลอหรือยกเลิกมติเรียกเก็บค่าแผงค้าดังกล่าวให้ได้ภายในวันนี้ ทำให้คณะผู้บริหาร กทม. ซึ่งมีกำหนดประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ในเวลา 10.00 น. ได้ยกเลิกประชุมกะทันหัน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. ที่กำกับดูแลตลาดนัดจตุจักร ต่างหลบหน้าไม่เดินทางเข้ากทม.ทั้งคู่ จึงมีเพียงนายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร อยู่รับเรื่องเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อ้างว่าสาเหตุที่ยกเลิกการประชุมเป็นเพราะผู้ว่าฯกทม. ไม่สบาย
ด้านนายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า ตนในฐานะ ผอ.ตลาดนัดจตุจักร ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะชะลอหรือยกเลิกการเรียกเก็บค่าแผงค้านี้ได้ เพราะเป็นเรื่องของบอร์ดตลาดนัดจตุจักร ซึ่งในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. เวลา 09.00 น. ระดับผู้บริหารจะมีการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนผู้ค้า ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าสาเหตุที่เรียกเก็บค่าแผงค้าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจาก กทม.ต้องจ่ายค่าเช่าที่ในอัตราใหม่ให้กับทาง รฟท. ตามที่เจรจากันไว้ก่อนหน้านี้ โดยค่าเช่าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2553 ต้องจ่ายในราคา ตรม.ละ 191.41 บาท จากเดิมที่ รฟท.เรียกเก็บ 32 บาท/ตรม. อย่างไรก็ตามอัตราค่าเช่าที่ใหม่นี้ กทม.และ รฟท.เจรจาเพิ่งได้ข้อยุติเมื่อปี 2552 ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงความพร้อมในการจ่ายค่าเช่าที่ไปแล้ว แต่รฟท.ยังไม่เซ็นหนังสือตอบกลับมา จึงถือว่าตลาดจตุจักรมีภาระที่ยังต้องจ่ายให้ รฟท.อยู่ ดังนั้นการเก็บค่าแผงค้าดังกล่าวจึงเป็นการเก็บค่าแผงค้าที่ตลาดจตุจักรค้างจ่ายให้กับ รฟท.ตั้งแต่ปี 2551-2553 รวมแล้วจำนวน 63 ล้านบาท
นายอรุณ กล่าวว่า หากเฉลี่ยค่าแผงค้าเป็นรายปีแล้ว ผู้ค้าจะต้องจ่ายในอัตราเดือนละ 200 บาทเท่านั้น เมื่อรวมที่ค้างจ่าย 3 ปี ผู้ค้าจึงต้องจ่ายในอัตรา 600 บาท/เดือน แต่ทั้งนี้จากการหารือกับบอร์ด รฟท.ชุดเก่า ยินดีที่จะยกหนี้ค่าเช่าที่ในปี 2551 ให้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาอย่างเป็นทางการ ตลาดนัดจตุจักรจึงต้องเรียกเก็บในอัตรา 500 บาท หากรฟท.ยอมยกหนี้ปี 51 จริง ผู้ค้าก็จ่ายเพียง 400 บาท ตลาดนัดก็จะต้องคืนให้ 100 บาท โดยไปหักจากค่าแผงค้าในปี 54 ซึ่งจะเริ่มสัญญาใหม่ที่ กทม.ทำกับ รฟท. ในปี 2554- เดือนมกราคม 2555 โดย กทม.จะต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีก 5% รวมเป็นเงิน 222.03 บาท/ตรม.อีก ซึ่งผู้ค้าจะต้องจ่ายค่าแผงค้าในอัตรา 250 บาท
ผอ.ตลาดนัดจตุจักร กล่าวต่อว่า ตนมองว่าการขึ้นค่าแผงค้าอัตรา 500 บาทนั้นถือว่าเป็นธรรมแล้ว และข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ชี้แจงให้ผู้ค้าเข้าใจมาแล้วทั้งนั้น โดยผู้ค้าส่วนใหญ่กว่า 70% เข้าใจหมดแล้ว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับ ทั้งนี้หากผู้ค้าไม่ยินยอมจ่าย ตลาดนัดจตุจักรมีมาตรการที่จะดำเนินการตามระเบียบ เริ่มด้วยการปรับ แต่หากผู้ค้าค้างชำระค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทางกองอำนวยการตลาดนัดมีสิทธิยึดแผงค้าได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้มีปัญหาในเรื่องนี้กับผู้ค้า เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อการต่อสัญญาเช่าที่กับ รฟท.ที่จะหมดสัญญาลงในปี 2555 นี้ ซึ่งหาก รฟท.ไม่ต่อสัญญาให้แล้วบริหารเอง ตนเชื่อว่าผู้ค้าจะถูกเรียกเก็บค่าแผงค้าในอัตราที่สูงกว่าที่ กทม.เรียกเก็บ เพราะ กทม.ดูแลในเรื่องการทำความสะอาดตลาด ห้องสุขาเอง
ส่วนที่ผู้ค้าอ้างว่ายังมีส่วนอื่นที่ทำรายได้ให้ตลาดนัดจตุจักรนั้น ขอชี้แจงว่าพื้นที่ของธนาคารต่างๆ ที่มาตั้งในตลาดนัดจตุจักรนั้นก็เพื่อมาบริการกลุ่มผู้ค้าและประชาชนเอง ตลาดนัดจตุจักรคงไม่สามารถไปเรียกเก็บได้หากไม่มีในส่วนนี้ผู้ค้าเองจะลำบาก ขณะที่ผู้ค้าที่มาปูผ้าขายในถนนช่วงเย็นนั้น ตลาดนัดจตุจักรคงไม่ให้ขึ้นทะเบียน เพราะไม่สามารถพิสูจน์ผู้ค้าที่แท้จริงได้ อีกทั้งหากขึ้นทะเบียนจะถือเป็นการรับรองผู้ค้าด้วย