หน้าฝนควรรู้ ตะขาบ กัดรับมือปฐมพยาบาลอย่างไร แพ้พิษเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
รู้จัก ตะขาบ สัตว์มีพิษหน้าฝนต้องระวัง วิธีรับมือเมื่อโดนกัด ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร เตือน แพ้พิษเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
รศ. พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณี ตัวร้อยขา หรือ ตะขาบ กัดในช่วงหน้าฝน เราจะรับมืออย่างไร และทำไมต้องระวัง รู้หรือไม่ หากแพ้พิษตะขาบอาจอันตรายถึงชีวิต
ทำความรู้จัก ตัวร้อยขา หรือ ตะขาบ กันว่า หน้าตาเป็นอย่างไร
ตะขาบ เป็นสัตว์ขาปล้องประเภทหนึ่ง พบในแถบเขตร้อนชื้น อยู่บนบก ขนาดตัวมีความยาวประมาณ 3 - 8 เซนติเมตร โดยที่แต่ละปล้องจะมีขา 1 คู่ ทำให้มีขาจำนวนมากอาจจะมีถึง 100 ขาได้เลย ที่สำคัญ ตะขาบ มีเขี้ยวพิษอยู่ 1 คู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่กัดคนสามารถปล่อยพิษจากบริเวณที่มีเขี้ยวพิษได้ โดยที่สารที่อยู่ในพิษของตะขาบ เป็นสารที่เป็นชนิดเอนไซม์ และชนิดที่ไม่เป็นเอนไซม์
- เมื่อ ตะขาบ กัดจะมีอาการอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง
อาการแรก ที่เกิดขึ้นหลังถูก ตะขาบ กัด คือ อาการปวด ซึ่งผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการปวด ตั้งแต่ปวดน้อยจนถึงปวดมาก และมีอาการรุนแรง
นอกจากนี้ ยังมีอาการ คัน บวม มีแผลเกิดขึ้นจากรอยเขี้ยวที่ถูกกัด โดยลักษณะแผล อาจจะมีแผลตื้นๆ หรือในผู้ป่วยบางรายมีแผลเนื้อตาย
ทั้งนี้ อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ อาการปวดซึ่งเป็นอาการเด่น แต่ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการรุนแรง คือ อาการแพ้พิษตะขาบ
- อาการแพ้พิษตะขาบ
ผู้ป่วยจะมีอาการ บวมที่หน้า , บวมที่หนังตา ริมฝีปาก , ผื่นขึ้นทั่วตัว , หายใจติดขัด , อาการหน้ามืด ซึ่งถ้าไปวัดความดันโลหิต อาจจะมีความดันที่ผิดปกติ หากผู้ป่วยหายใจติดขัด หรือความดันเลือดผิดปกติมากๆ อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
- ปฐมพยาบาล ตะขาบ กัดเบื้องต้นทำอย่างไร
อันดับแรก ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น สงสัยว่าแพ้พิษตะขาบ บวม ผื่นขึ้นทั้งตัว หายใจติดขัด ความดันต่ำ หน้ามืด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือ โทรเบอร์ 1669 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มาดูแล รักษาที่บ้านหรือจุดเกิดเหตุ
อันดับสอง หากถูก ตะขาบ กัดแต่อาการไม่รุนแรง เช่น อาจจะมีอาการปวด บวม มีรอยแผลตื้นๆ จากการถูกกัด แนะนำให้ทำความสะอาดโดยใช้น้ำสะอาดหรือใช้สบู่อ่อนๆ ทำความสะอาดบริเวณแผลได้เลย
* ไม่แนะนำให้กรีดหรือใช้สมุนไพรพอกในบริเวณที่ถูกกัด
นอกจากนั้น ถ้าปวดมาก อาจจะใช้วิธีการประคบเย็น หรือกินยาแก้ปวด เช่น กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดได้ และถ้าอาการปวดไม่ทุเลาลง ปวดรุนแรงขึ้น มีอาการบวม ผื่นขึ้น อาการผิดปกติ แผลที่ถูกกัดมีลักษณะที่เป็นเนื้อตาย แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการที่โรงพยาบาล
อ่านข่าว - ยอดติดเชื้อยังพุ่งหลักพัน ใครกันคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบไปตรวจ โควิด-19 เร็วที่สุด
ข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี