ข่าว

ทำอย่างไร เมื่อซื้อของออนไลน์ แล้วโดนโกง

ทำอย่างไร เมื่อซื้อของออนไลน์ แล้วโดนโกง

08 มิ.ย. 2564

เมื่อสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้ว ไม่ได้รับสินค้า โอนเงินไปแล้วเงียบหาย ติดต่อไม่ได้ ต้องทำอย่างไร มีหลักฐานอะไรที่เราต้องเตรียมเพื่อใช้ในการแจ้งความ ?

"ช้อปปิ้งออนไลน์" ถือเป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้า  ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยิ่งทำให้มีผู้สนใจมาใช้บริการ ออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพที่หาช่องว่างของการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากระทำความผิด ฉวยโอกาส แอบอ้างว่าเป็นผู้ค้า หลอกเงินจากขาช้อปทั้งหลาย 

สำหรับวิธีการหลอกลวงออนไลน์ของเหล่ามิจฉาชีพนั้น ก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน จะหว่านล้อมทุกวิถีทาง เพื่อหลอกให้ลูกค้าโอนเงิน  หลังจากที่ได้เงินไปแล้วก็มักจะบล็อค หรือขาดการติดต่อ หายไปดื้อๆ ปล่อยให้ ลูกค้าที่ถูกหลอก เปลี่ยนสถานะป็น "ผู้เสียหาย" ทันที 

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้เสียหาย สามารถเข้าแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพได้ตามกฎหมาย แต่ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด  โดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  เช่น  สถานที่โอนเงิน  ถ้าโอนเงินออนไลน์ที่บ้าน ก็แจ้งได้ที่สถานีตำรวจที่บ้านตั้งอยู่  

 

แต่ที่สำคัญ ผู้เสียหายต้องเตรียมเอกสาร เพื่อใช้ประกอบการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้ 
1. ข้อความแชท ที่ผู้เสียหายพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย 
2. หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไป
3. สลิป การโอนเงินชำระค่าสินค้า
4. หมายเลขโทรศัพท์ร้านค้า 
5. รูปโปรไฟล์ร้านค้าที่ขายของ 

 

จากนั้นนำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ  ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง โดยต้องระบุกับเจ้าหน้าที่ต้องการแจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่เป็นเพียงการลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือตรวจสอบรายการเดินบัญชี(สเตทเม้น) ไปยังธนาคาร มาประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป  หรือผู้เสียหาย จะเดินทางไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) 

สำหรับฐานความผิดที่ผู้ขายไม่ส่งสินค้าให้ ถือเป็นความผิดในข้อหา 

- "ฉ้อโกง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกหรือแจ้งให้ทราบ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มีอายุความ 3 เดือน) 

- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 นำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มีอายุความ 10 ปี)

 

 

ขอบคุณข้อมูล :กองปราบปราม