ข่าว

"เดียร์ วทันยา" ตั้งคำถามงบ สธ. 4.5 หมื่นล้านบาท ซื้อวัคซีนดีดีให้คนไทยได้ฉีดกี่โดส

"เดียร์ วทันยา" ตั้งคำถามงบ สธ. 4.5 หมื่นล้านบาท ซื้อวัคซีนดีดีให้คนไทยได้ฉีดกี่โดส

10 มิ.ย. 2564

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ "เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี "โพสต์ถ้าบริหารไม่ประมาทเงินกู้ 45,000 ล้านบาทครั้งก่อน คงสามารถซื้อวัคซีนดีดีให้คนไทยได้ฉีดกันถ้วนหน้าพร้อมตั้งคำถามงบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาทจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซื้อวัคซีนได้กี่โดส

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสีหรือเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถ้าเราบริหารไม่ประมาทจริง เงินกู้ 45,000 ล้านบาทครั้งก่อน คงสามารถซื้อวัคซีนดีดีให้คนไทยได้ฉีดกันถ้วนหน้าแล้ว

พร้อมกับโพสต์รูปตั้งคำถามว่างบสาธารณสุข 45,000ล้านบาทจากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซื้อวัคซีนได้กี่โดส 

ทั้งนี้มีการแยกแต่ละยี่ห้อวัคซีนว่าสามารถสั่งซื้อวัคซีนแต่ละยี่ห้อได้จำนวนเท่าไหร่ และเมื่อรวมจำนวนวัคซีนทุกยี่ห้อแล้วมีจำนวนมากถึง 817.39 ล้านโดส 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.วทันยา ได้อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทว่า ขอเจาะไปที่งบประมาณในส่วนสาธารณสุขโดยเฉพาะเพราะงบประมาณในส่วนนี้ เป็นเหมือนกุญแจหัวใจหลักที่สำคัญของปัญหาต่างๆที่วันนี้ประเทศ ประชาคนไทยกำลังต้องเผชิญภาวะวิกฤต เราเห็นถึงภาพที่โรงพยาบาลต่างๆ ต้องออกมาขอรับบริจาคชุดพีพีอี หน้ากากอนามัย เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งล่าสุดโรงพยาบาลต่างๆต้องออกมาชะลอในเรื่องการฉีดวัคซีน ประชาชนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนต้องมารอลุ้นเป็นรายวันเมื่อถึงคิวตัวเอง มีวัคซีนเหลือเพียงพอหรือไม่

"ตื่นเช้ามาคนไทยวันนี้ต้องมารอฟังตัวเลขผู้เสียชีวิตผู้ป่วยสะสมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพื่อติดตามสถานการณ์ว่าจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อมโยงโดยตรงที่จะต้องพูดถึงเงินงบประมาณเงินกู้เมื่อครั้งที่รัฐสภาเคยอนุมัติไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมเมื่อปีที่ผ่านมาจำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยในนั้นมีจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทที่มีการจัดสรรไปใช้สำหรับแก้ปัญหาสาธารณสุขโดยเฉพาะ"

โควิดที่เริ่มต้นระบาดตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปลายปี 2562 แต่เริ่มมาเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย คือตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นที่มาของเหตุผลที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท ในวันที่ 7 เมษายน 

"ดิฉันได้ตรวจสอบตัวเลขจากกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 5พ.ค.2564 ผ่านไป1 ปีนับแต่มีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งใน1 ปี เราผ่านเหตุการณ์โควิดระลอกที่สามที่เกิดขึ้นที่สมุทรสาคร ช่วงปลายปี 2563 หรือเหตุการณ์ระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพที่คริสตัลผับในวันที่ 31 มีนาคมแต่วันที่5 พ.ค.ตัวเลขที่กรมบัญชีกลางประกาศออกมาถึงการใช้งบพ.ร.ก. เงินกู้ ในส่วนของ 4.5 หมื่นล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุขนั้นปรากฏว่ามีตัวเลขของเงินที่ตั้งอนุมัติไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ57%ของวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และมีการเบิกใช้จ่ายไปแล้วแค่ 7พันกว่าล้านบาท

ในจำนวนเงินที่ขออนุมัติไปเมื่อไปดูในรายละเอียดพบว่า งบประมาณที่ถูกนำจัดสรรไปใช้เกี่ยวกับเรื่องวัคซีน การเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะมีเม็ดเงินแค่ 2.7พันล้านบาทหรือ 6% เท่านั้น ซึ่งรัฐสภาแห่งนี้ได้สร้างความหวังที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขได้มีอาวุธที่จะต่อสู้กับโรคร้ายให้เราทุกๆคน แต่เม็ดเงินที่จะถูกใช้กับวัคซีนมีเพียง 6 % เท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ได้ใช้เงิน เตรียมสำหรับการจัดซื้อวัคซีน ทั้งสิ้นถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามหลังจากวันที่ 5พ.ค.2564 จนถึงวันที่ 8มิ.ย.2564 พบว่า วงเงินด้านสาธารณสุข  (สธ.)4.5หมื่นล้านบาท เหลือเม็ดเงินอยู่แค่ 236ล้านบาท หรืออนุมัติวงเงินไปแล้ว 99% 

น.ส.วทันยา ยังได้ตั้งคำถามว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมให้คนไทยอย่างไรในการใช้เงินไปแค่ 57%จาก 4.5หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ระบาดระลอกสามไป 33วัน กลับมีโครงการขออนุมัติได้ถึง 1.9หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการใช้งบล่าช้าแล้วมาเร่งเอาภายหลังในวันที่สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ไม่มีการคาดการณ์หรือวางแผนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

 น.ส. วทันยา ชี้ให้เห็นว่า หากมีการทำงานเชิงรุก จะทำให้จัดซื้อวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ สร้างโรงพยาบาลสนามช่วยประชาชนได้ หวังว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทครั้งนี้ ที่จัดสรรให้ด้านสาธารณสุข 3หมื่นล้านบาท จะวางแผนทำงานอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท