ข่าว

รู้จัก "ไขมัน" ห่างไกล "โรคหัวใจ" และ "หลอดเลือด"

รู้จัก "ไขมัน" ห่างไกล "โรคหัวใจ" และ "หลอดเลือด"

12 มิ.ย. 2564

แนะเลือกรับประทานอาหารจำพวก "ไขมัน" ให้เหมาะสมกับร่างกาย ควรหลีกเลี่ยง "ไขมันทรานส์" บริโภคมากเกินไปไขมันใน "หลอดเลือด" สูง เสี่ยง "โรคหัวใจ"

"ไขมัน" สำคัญอย่างไรกับร่างกาย , หน้าที่ , ผลดี - ผลเสีย

- ไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย เป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การรักษาสมดุลของผิวหนัง เป็นแหล่งกำเนิดของฮอร์โมนหลายชนิด

- ไขมันยังมีหน้าที่ในการลำเลียงและการดูดซึมของวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ , วิตามินอี และ วิตามินเค เป็นต้น

- การบริโภคไขมันบางประเภทในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียให้กับร่างกาย โดยเฉพาะไขมันทรานส์ที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

ไขมันจากอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ

1. ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat)

- มีลักษณะเป็นของแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส มักพบในแหล่งอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนยนม เช่น เนื้อหมู , เนื้อวัว , เนื้อไก่ติดหนัง , ไขสัตว์ , เนย , ชีส ขณะที่ น้ำมันพืชบางอย่างก็มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว เหมาะแก่การทอดด้วยความร้อนสูง

2. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

- มักพบในน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันมะกอก , น้ำมันงา หรือน้ำมันดอกคำฝอย , อะโวคาโด , ปลาที่มีกรดไขมันอย่าง ทูน่า , แมคเคอเรล หรือแซลมอน และถั่วหรือเมล็ดธัญพืชต่างๆ

- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมทั้งทำให้ร่างกายได้รับกรดไขมันจำเป็นที่สร้างเองไม่ได้ ทนความร้อนได้น้อยกว่าไขมันอิ่มตัว สามารถนำไปผัด - ทอดได้บ้าง

3. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat)

- มักพบในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง , น้ำมันข้าวโพด หรือน้ำมันทานตะวัน , ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ

- ไขมันประเภทนี้ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ให้สารอาหารที่เสริมสร้างเซลล์ในร่างกาย และทำให้ได้รับกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ เช่น โอเมก้า 6 และโอเมก้า 3

- แต่ไขมันที่ทนความร้อนได้น้อยที่สุด การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนจะช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากกว่าบริโภคไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์

 

4. ไขมันทรานส์ (Trans fat)

- เกิดจากการใช้ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนมาแปรสภาพโดยการเติมฟองอากาศจากไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) ในน้ำมันพืช ทำให้เปลี่ยนสภาพจากของเหลวให้อยู่ในสภาพของแข็ง หรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น เนยเทียม , เนยขาว , มาร์การีน , ครีมเทียม

- นอกจากไขมันทรานส์ที่ผลิตขึ้นมาเองแล้ว ไขมันทรานส์ก็ยังสามารถพบได้ธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์และนม แต่มีในปริมาณที่เล็กน้อย

- การบริโภคไขมันทรานส์จะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น , ลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด โรคอ้วน , เบาหวาน , ความดันโลหิตสูง , ตับทำงานผิดปกติ , นิ่วในถุงน้ำดี เราจึงควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันประเภทนี้

 

การตรวจหาระดับไขมันในเลือดเป็นการตรวจวัดระดับของ คอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอร์ไรด์

- คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นการรวมตัวกันของไขมันกับโปรตีน หรือเรียกว่า ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ร่างกายของเราจะได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปจากภายนอกที่มาจากสัตว์เท่านั้น ไม่พบในอาหารที่มาจากพืช และร่างกายยังสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลขึ้นเองได้เช่นเดียวกัน

- คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ทุกเซลล์ของคนเรา รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของน้ำดีและมีส่วนสำคัญในการสร้างฮอร์โมน ไลโปโปรตีนในเลือดแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด เรียงลำดับจากอณูที่มีความหนาแน่นต่ำสุดไปสู่อณูที่มีความหนาแน่นสูงสุด คือ chylomicron , very low density lipoprotein (VLDL) , low density lipoprotein (LDL) และ high density lipoprotein (HDL) โดยทั่วไปการตรวจเลือดจะสามารถแบ่งชนิดของคอเลสเตอรอลย่อยๆ ได้เป็น 

 

1. คอเลสเตอรอลชนิดดี (High - Density Lipoprotein cholesterol: HDL-C) เป็นไลโปโปรตีนช่วยลดปริมาณไลโปโปรตีนที่ไม่ดีที่เกาะอยู่ตามผนังเลือดในร่างกาย การมีระดับไลโปโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ , ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น

2. คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low - Density Lipoprotein cholesterol : LDL-C) ถ้ามีปริมาณมากในกระแสเลือดจะส่งผลให้มีสะสมในผนังหลอดเลือดมีผลทำให้เกิดการอักเสบ อาจทำให้หลอดเลือดตีบและแข็งได้ ในระยะยาวส่งผลให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ

- ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่พบได้ในอาหารทั้งจากพืชและจากสัตว์ และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ เมื่อร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรทมากเกินจำเป็น หรืออาหารจำพวกน้ำตาลสูงหรือ Alcohol ปริมาณมากจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ และไปสะสมอยู่เนื้อเยื่อไขมันทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

การเลือกบริโภคเฉพาะไขมันชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้น ควรรับประทานไขมันในปริมาณที่เหมาะสมดีที่สุด ต้องคำนึงถึงชนิดของไขมันด้วย โดยเลือกรับประทานไขมันไม่ดีแต่น้อย และรับประทานอาหารที่ไขมันดีเป็นหลัก ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 1% ของพลังงานที่เราได้รับต่อวัน ซึ่งพลังงานเฉลี่ยที่ควรได้รับอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ก็เท่ากับว่าเราไม่ควรทานอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัมต่อวัน

นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารแล้วสิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย คือ การออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ อาจเลือกเป็นการเดิน , การวิ่งเหยาะๆ , การเล่นโยคะ หรือกิจกรรมใดก็ได้ที่ชื่นชอบ เป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี หลอดเลือดแข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้

ไขมัน, ไขมันทรานส์, โรคหัวใจ, หลอดเลือดสมอง

อ่านข่าว - รู้จัก "ยุง" มัจจุราช รั้งอันดับ 1 ใน 15 คร่าชีวิตมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอันตรายที่สุดในโลก

ข้อมูล : สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์